คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๑๖๑/๒๕๕๗
การกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ.
มาตรา ๑๕๗ ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา
ซึ่งหมายถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน
หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา
หรือผู้ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากได้รับแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจหน้าที่ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๒ มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ
แต่เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๔๕ มาตรา ๓๙ ที่ว่าด้วยส่วนราชการของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
ไม่ปรากฏว่าสถาบันแห่งนี้เป็นส่วนราชการในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย
จำเลยจึงมิใช่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน
และไม่ปรากฏว่ามีบทมาตราใดบัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันแห่งนี้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาด้วย
การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ตามฟ้องจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม
ป.อ. มาตรา ๑๕๗ ได้
แม้การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวอาจเป็นความผิดตาม
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางอาญาของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
แต่ก็เป็นกฎหมายคนละฉบับกัน และโจทก์มิได้กล่าวมาในคำฟ้อง
จะลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวย่อมมิได้
เพราะจะเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ
ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง
วรรคสอง และวรรคสี่
ขณะเกิดเหตุจำเลยมีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เป็นข้าราชการพลเรือนและรับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน
ทำหน้าที่ประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยตามฟ้องเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
มิได้เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ซึ่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน
จะถือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยของจำเลยเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยมิได้
ฎีกาที่ ๑๓๙๙๖/๒๕๕๗ เจ้าพนักงานซึ่งจะเป็นผู้กระทำความผิดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น
หมายถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย
โดยอาจระบุไว้เป็นการเฉพาะว่าให้ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน
หรือระบุองค์การและให้ผู้ที่สังกัดอยู่เป็นเจ้าพนักงาน
หรืออาจเป็นการแต่งตั้งโดยกฎหมายทั่วไปซึ่งระบุถึงวิธีการแต่งตั้งไว้
และได้มีการแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว สำหรับส่วนราชการ
แม้จะมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
แต่ส่วนราชการเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
การแบ่งส่วนราชการหรือกฎหมายจัดตั้งส่วนราชการนั้น
มิใช่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย จำเลยที่ 1 (สภาความมั่นคงแห่งชาติ)
จึงหาใช่เจ้าพนักงานตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญาไม่
เป็นเจ้าพนักงาน
ต้องเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ
โดยตรง
ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวผู้ต้องหาแล้ว
ไม่แจ้งข้อหา ไม่ทำบันทึกจับกุมและไม่ส่งมอบตัวให้พนักงานสอบสวน
และนำไปควบคุมโดยพลการเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ(ฎีกาที่ ๔๒๔๓/๒๕๔๒)
คดีมีมูลพอฟ้องได้ แต่สั่งไม่ฟ้อง เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (ฎีกาที่
๓๕๐๙/๒๕๔๙)
อ้างอิง
สหรัฐ
กิติ ศุภการ. หลักและคำพิพากษากฎหมายอาญา พิมพ์ครั้งที่ ๒ ปรับปรุงใหม่.
กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,
๒๕๕๗.
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๕๗ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน
ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี
หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่มา http://deka.supremecourt.or.th/search
0 Comments
แสดงความคิดเห็น