สิทธิการเช่าที่ราชพัสดุพิพาทมีราคาและถือเอาได้ จึงเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่งของ จ. จ.ย่อมมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ แม้ว่า จ. จะทำพินัยกรรมเกี่ยวกับสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุไว้ ก็หาได้มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในพินัยกรรมของตน ดังนั้น จ. ย่อมมีสิทธิดำเนินการใดๆ อันเกี่ยวแก่สิทธิการเช่าที่ราชพัสดุของตนได้เสมอรวมถึงการโอนสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุของตนได้เสมอรวมถึงการโอนสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุพิพาทให้แก่บุคคลอื่นได้

ทรัพย์สิน
                ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗ บัญญัติว่า ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง และมาตรา ๑๓๘ บัญญัติว่า ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์ และวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้
                คำว่า ทรัพย์และทรัพย์สิน นั้น บุคคลธรรมดาจะเข้าใจเช่นใดหรือจะตกลงให้มีความหมายกันเช่นใดก็ตาม แต่ถ้าเป็นเรื่องที่จะใช้กฎหมายบังคับแล้วจะมีความหมายเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากความหมายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๗ และ ๑๓๘ ดังกล่าวข้างต้น
                ลักษณะสำคัญของทรัพย์และทรัพย์สิน มีลักษณะสำคัญ ๒ ประการคือ
                ๑. ทรัพย์คือวัตถุที่มีรูปร่าง ส่วนทรัพย์สินคือวัตถุที่มีรูปร่างก็ได้หรือไม่มีรูปร่างก็ได้
                ๒. วัตถุที่มีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างนั้นต้องอาจมีราคาได้และต้องอาจถือเอาได้
                หากขาดหลักเกณฑ์ข้อหนึ่งข้อใดไปก็จะเป็นทรัพย์หรือทรัพย์สินไม่ได้
                คำว่า วัตถุไม่มีรูปร่าง นั้น หมายถึงสิ่งที่มองไม่เห็นได้ด้วยตา จับต้องสัมผัสไม่ได้ เช่น แก๊ส กำลังแรงแห่งธรรมชาติ พลังน้ำตก พลังปรมณู และยังได้แก่ ทรัพยสิทธิและสิทธิต่างๆ อันเกี่ยวกับทรัพย์และทรัพย์สินดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๙ และ ๑๔๐ ด้วย แต่ยังรวมถึง สิ่งที่ไม่มีรูปร่างแต่กฎหมายไทยได้รับรองแล้ว เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร นอกจากนี้ยังหมายความรวมถึงสิทธิต่างๆ เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง สิทธิจำนำสิทธิจำนอง สิทธิการเช่า สิทธิตามสัญญากู้ เป็นต้น
                ฎีกาที่ ๔๒๒๒/๒๕๓๖ สิทธิการเช่าเป็นทรัพย์สิน แม้สัญญาเช่าระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่าจะห้ามมิให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าไปยังบุคคลภายนอก โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย เพราะหากผู้ให้เช่ายินยอมก็โอนกันได้ ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้บัญญัติว่า เป็นทรัพย์ที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี สิทธิการเช่าจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
                คำว่า อาจถือเอาได้ นั้น หมายถึง อาจเข้าหวงกันไว้เพื่อตนเอง ไม่จำเป็นต้องเข้ายึดจับต้องได้จริงจัง เช่น ปลาในโป๊ะ
                สิทธิบางอย่าง เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิในหุ้นส่วน สิทธิในการเช่า แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่ก็ยังอยู่ในลักษณะที่จะยึดถือ คือหวงกันไว้เพื่อตนเองได้
                สิทธิการเช่าตึกมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๓๖/๒๔๙๘  วินิจฉัยว่า ย่อมโอนกันได้ และเมื่อได้ชำระเงินมอบหมายสิทธินั้นไว้ให้ต่อกันแล้ว สิทธินั้นย่อมตกได้แก่ผู้รับโอนทันที

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                มาตรา ๑๓๓๖ ภายในบังคับแห่งกฎหมายเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กลับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อ้างอิง
บัญญัติ สุชีวะ. คำอธิบายกฎหมายลักษณะทรัพย์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๗ ปรับปรุงโดยศาสตราจารย์พิเศษ ไพโรจน์ วายุภาพ. กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์กรุงสยามพับลิชชิ่งจำกัด, ๒๕๕๙.
สมจิตร์ ทองศรี. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์กรุงสยามพับลิชชิ่งจำกัด, ๒๕๕๙.