โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารพร้อมทั้งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่พิพาทและที่หัวไร่ปลายนาของโจทก์ทั้งสอง หากโจทก์ทั้งสองนำที่พิพาทออกให้บุคคลอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ บาทจำเลยทั้งสองให้การในตอนแรกว่า จำเลยทั้งสองปลูกบ้านอยู่นอกโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แต่ที่นอกโฉนดที่ดินเป็นที่หัวไร่ปลายนาของโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยสงบและเปิดเผยจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ตอนหลังจำเลยทั้งสองกลับให้การว่า หากที่หัวไร่ปลายนาไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองแต่เป็นที่สารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ก่อน ย่อมมีสิทธิในการครอบครองดีกว่าโจทก์ทั้งสอง ดังนี้ คำให้การของจำเลยทั้งสองเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเองไม่ชัดแจ้งว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ จึงไม่ใช่คดีทุนทรัพย์ แต่เป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ เมื่อที่พิพาทอาจให้เช่าได้ขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ ๔,๐๐๐ บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคสอง

เพิ่มเติม
                คำให้การปฏิเสธจะต้องไม่ขัดกันเอง มิฉะนั้นถือว่าเป็นคำให้การที่ไม่ชอบ เมื่อเป็นคำให้การที่ไม่ชอบ ต้องถือว่าไม่มีคำให้การปฏิเสธในข้อนี้เท่ากับจำเลยได้รับแล้วจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่โจทก์จะมีภาระการพิสูจน์
                การที่จะถือว่าเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเอง จะต้องเป็นคำให้การที่ยืนยันข้อเท็จจริงทั้งสองทางที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในเวลาเดียวกันเพราะจะรับฟังไปทางใดทางหนึ่งไม่ได้อยู่ในตัว
                ฎีกาที่ ๒๖๓๑/๒๕๓๖ จำเลยให้การต่อแรกว่าจำเลยทำสัญญากู้เงินกับโจทก์จริงแต่ทำขึ้นเพื่อเป็นประกันการที่โจทก์ให้จำเลยเป็นตัวแทนนำเงินไปให้ผู้อื่นกู้ จำเลยไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้เป็นการปฏิเสธว่าไม่ได้กู้เงินจากโจทก์ แต่คำให้การของจำเลยตอนหลังจำเลยให้การว่า หากฟังว่าจำเลยกู้เงินโจทก์จริง จำเลยได้ชำระเงินแก่โจทก์แล้ว เป็นการรับว่าจำเลยกู้เงินโจทก์จริง คำให้การของจำเลยจึงขัดแย้งกัน จำเลยมิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้งว่าจำเลยไม่ได้ทำสัญญากู้เงินกับโจทก์จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๗๗ วรรคสอง ถือว่าจำเลยได้ยอมรับตามข้ออ้างของโจทก์
                ฎีกาที่ ๕๔๗๓/๒๕๔๘ จำเลยให้การและฟ้องแย้งตอนแรกว่า จำเลยไม่เคยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จำเลยทำกินในที่ดินของจำเลยไม่เคยทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เท่ากับจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย แต่จำเลยกลับให้การและฟ้องแย้งในตอนหลังว่าจำเลยทำกินในที่ดินพิพาทด้วยความสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยจึงขัดแย้งกัน จึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์

อ้างอิง
ไพโรจน์ วายุภาพ. คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาค ๒ ลักษณะ ๑ วิธีพิจารณาสามัญในศาลชั้นต้นฉบับที่ ๖ แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์กรุงสยามพับลิชชิ่ง, ๒๕๕๖.

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
                มาตรา ๑๗๗ เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน
                ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น
                จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก