คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นเป็นดีอาญาในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ , ๒๙๕
และเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำร้ายกาย ณ.
ในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมซึ่งวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตลอดจนสาระแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องคดีนี้
จึงเป็นการกระทำเดียวกันแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐
แม้คดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๕
ก็ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสองของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๓๙ (๔)
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ ๒
พาไม้ขนาดเท่าใดไม่ปรากฏชัด ๑ อัน เป็นอาวุธติดตัวไปในเมือง
หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ และใช้ไม้เป็นอาวุธตีทำร้าย ณ.
แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดในข้อหาความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง
หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ
โดยไม่มีเหตุอันสมควรว่าเป็นการพาอาวุธโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย
ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑
เป็นฟ้องที่ไม่ชอบ ด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) ต้องพิพากษายกฟ้อง
เพิ่มเติม
คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง หมายถึงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ไม่ใช่คำพิพากษาถึงที่สุดเหมือนฟ้องซ้ำในคดีแพ่ง ดังนั้นคดีอาญาที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วถือว่าคดีนั้นได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว
แม้คดีนั้นยังไม่ถึงที่สุด พราะอยู่ระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกาก็ตาม (ฎีกาที่ ๓๔๘๘/๒๕๒๙ และฎีกาที่ ๓๑๑๖/๒๕๒๕)
อ้างอิง
เฟสบุ๊ค:
อาจารย์พรณรงค์ บวรชัยธรรม
ฎีกาที่ ๑๖๕๖/๒๕๑๒ ในคดีความผิดครั้งเดียวและกรรมเดียวกัน
เมื่ออัยการโจทก์ได้ฟ้องจำเลยและศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ผู้เสียหายจะฟ้องจำเลยในความผิดกรรมเดียวนั้นอีกไม่ได้
แม้ว่าการกระทำหรือกรรมนั้นจะแบ่งแยกความผิดออกได้เป็นหลายฐาน
หรือเป็นความผิดอาญาแผ่นดินกับความผิดที่ยอมความกันได้ก็ตาม เพราะคำว่า
"ในความผิด" ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๔) มีความหมายถึงการกระทำอันหนึ่ง ๆ ในคราวเดียวกัน
มิได้หมายถึงฐานความผิด
ฎีกาที่ ๑๔๙๙/๒๕๓๑ คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาหมิ่นประมาทโดยจำเลยทั้งสองกับพวกทำหนังสือใส่ความโจทก์ซึ่งเป็นกำนันร้องเรียนต่อนายอำเภอ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว โจทก์จะนำการกระทำอันเดียวกันมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้อีกในข้อหาแจ้งความเท็จกล่าวหาโจทก์ต่อนายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไม่ได้แม้ประเด็นในคดีทั้งสองนี้จะต่างกันก็ตาม
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๔) แล้ว
ฎีกาที่ ๒๓๐๙/๒๕๕๘ สิทธินำคดีมาฟ้องระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม
ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๔) มุ่งหมายถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดอันหนึ่งอันเดียวกันในคราวเดียวกัน
ความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีเป็นการกระทำเดียวกันที่ทำให้เกิดความผิด
แม้โจทก์แยกฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็น
๒ คดี โดยคดีก่อนกล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการหลอกลวงโจทก์
ขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกง ส่วนคดีนี้กล่าวหาว่าเป็นการกระทำฐานยักยอกก็ตาม
แต่ตามพฤติการณ์
การกระทำของจำเลยทั้งสองคดีตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการกระทำความผิดในเรื่องเดียวกันและต่อเนื่องเกี่ยวพันกันโดยมีเจตนาเดียวกัน
ย่อมเป็นความผิดกรรมเดียว
เมื่อคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงดังกล่าวศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว
ถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยในเรื่องการกระทำความผิดของจำเลย
และมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตาม
ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๔)
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๘๓ ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป
ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา ๙๐ เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด
มาตรา ๒๙๕ ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น
จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี
หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔
แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]
มาตรา ๓๗๑ ผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง
หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร
หรือพาไปในชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริงหรือการอื่นใด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท และให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบอาวุธนั้น
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
(ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ. ๒๕๕๘]
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา
๓๙ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป
ดังต่อไปนี้
(๔)
เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
มาตรา ๑๕๘ ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี
(๕) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด
ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ
อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี
ในคดีหมิ่นประมาท
ถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียนหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง
(๖)
อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด
(๗) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง
ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง
มาตรา
๑๕๙ ถ้าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษเพราะได้กระทำความผิดมาแล้ว
เมื่อโจทก์ต้องการให้เพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบ ให้กล่าวมาในฟ้อง
ถ้ามิได้ขอเพิ่มโทษมาในฟ้อง
ก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้อง
เมื่อศาลเห็นสมควรจะอนุญาตก็ได้
มาตรา
๑๙๕ ข้อกฎหมายทั้งปวงอันคู่ความอุทธรณ์ร้องอ้างอิงให้แสดงไว้โดยชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์
แต่ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์
เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นก็ตาม
0 Comments
แสดงความคิดเห็น