สิทธิในการอุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่งตามคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ ต้องพิจารณาจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ ๑ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา มาตรา ๔๐
                อุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ขอให้ยกคำร้องในคดีส่วนแพ่งของผู้เสียหายที่ ๑ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจมนการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา มาตรา ๔๐ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง

ข้อเท็จจริง
                ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายที่ ๑ ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล ๑๐,๐๐๐ บาท ค่าขาดประโยชน์จากการทำงาน ๔๐,๐๐๐ บาท และค่าสินไหมทดแทนอย่างอื่น ๕๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
                จำเลยไม่ได้ให้การในคดีส่วนแพ่ง
                ศาลชั้นต้นพิพากษา....ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ ๑ จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
                จำเลยอุทธรณ์
                ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน
                จำเลยฎีกา
                ส่วนที่จำเลยฎีกาในคดีส่วนแพ่งว่า เมื่อข้อเท็จจริงยังเป็นที่สงสัยว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายหรือไม่ จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ ๑ เห็นว่า สิทธิในการอุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่งตามคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ ต้องพิจารณาจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ ๑ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา มาตรา ๔๐
                ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ขอให้ยกคำร้องในคดีส่วนแพ่งของผู้เสียหายที่ ๑ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจมนการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา มาตรา ๔๐ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง

หลักเกณฑ์ การยื่นคำร้องขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๔๔/๑
                ๑.ต้องเป็นผู้เสียหาย
                ๒.ต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการสืบพยานให้ยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี
                ๓.ต้องได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย
                ๔.ต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                มาตรา ๔๐  การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
                มาตรา ๔๔/๑ ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้
                การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการสืบพยานให้ยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น  ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวต้องแสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง หากศาลเห็นว่าคำร้องนั้นยังขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ร้องแก้ไขคำร้องให้ชัดเจนก็ได้
                คำร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ และในกรณีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการตามความในมาตรา ๔๓ แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกไม่ได้

                ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
                มาตรา ๒๒๔ ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจ แล้วแต่กรณี
                มาตรา ๒๒๕  ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย
                มาตรา ๒๔๙(เดิม) ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกานั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย การวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีข้อใดไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา ให้กระทำโดยความเห็นชอบของรองประธานศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงอำนาจของประธานศาลฎีกาตามมาตรา ๑๔๐ วรรคสอง
                ปัจจุบัน มาตรา ๒๔๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ. ๒๕๕๘
                มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๔๘ และมาตรา ๒๔๙ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                มาตรา ๒๔๙  ให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาตามมาตรา ๒๔๗ ได้ เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย
                ปัญหาสำคัญตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงกรณีดังต่อไปนี้
                (๑) ปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน
                (๒) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา
                (๓) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน
                (๔) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น
                (๕) เพื่อเป็นการพัฒนาการตีความกฎหมาย
                (๖) ปัญหาสำคัญอื่นตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
                ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาตามวรรคสอง (๖) เมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
                ในกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา ให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น