ข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทางเฟสบุ๊คมีใจความว่า
เงินทั้งหมด ๖๗๐,๐๐๐ บาท ไม่ต้องส่งคืนให้แล้ว ยกให้หมดไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้
จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์จึงต้องนำพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
พ.ศ.๒๕๔๔ มาใช้บังคับ ตามมาตรา ๗ บัญญัติว่า
ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นปรากฏอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
และมาตรา ๘ บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๙ ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ
มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง
ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ
หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว ดังนั้นข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทางเฟสบุ๊ค
แม้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม
แต่การส่งข้อความของโจทก์ทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยจริง
ข้อความการสนทนาจึงรับฟังได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๓๔๐ แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ย่อมระงับ
โจทก์ไม่อาจยกเหตุว่าโจทก์ไม่มีเจตนาที่จะปลดหนี้ให้จำเลยแต่ทำไปเพราะความเครียดต้องการประชดประชันจำเลยขึ้นอ้างเพื่อให้เจตนาที่แสดงออกไปตกเป็นโมฆะ
เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้รู้ถึงเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายในของโจทก์
ปลดหนี้
ปลดหนี้
เป็นวิธีการระงับหนี้อีกประการหนึ่ง ซึ่งฝ่ายเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้สละสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ตลอดไปอันเป็นการแสดงเจตนาหรือนิติกรรมฝ่ายเดียวของเจ้าหนี้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้
เนื่องจากหนี้นั้นเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะจัดการอย่างไรก็ได้
หนี้ที่เจ้าหนี้จะปลดหนี้ให้ลูกหนี้ได้อาจเป็นหนี้ที่เกิดจากมูลสัญญาหรือละเมิดหรือมูลหนี้ประการอื่นก็ได้
ตามปกติการปลดหนี้มักจะเกิดจากการร้องขอของลูกหนี้ โดยลูกหนี้ทำความพอใจบางอย่างให้แก่เจ้าหนี้
แต่อาจเกิดจากความพอใจของเจ้าหนี้เองไม่มีการตอบแทนกันก็ได้
วิธีการปลดหนี้
แบ่งออกเป็นกรณีหนี้ที่ไม่มีหนังสือเป็นหลักฐาน กับ หนี้ที่มีหนังสือเป็นหลักฐาน ในกรณีหนี้ที่มีหนังสือเป็นหลักฐาน
การแสดงเจตนาปลดหนี้ต้องทำด้วยการทำเป็นหนังสือ(ฎีกาที่ ๗๗๑๗/๒๕๓๘) หรือเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้
หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
อ้างอิง
ไพโรจน์ วายุภาพ. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ว่าด้วยหนี้ พิมพ์ครั้งที่ ๑๒. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา,
๒๕๖๑.
ฎีกาที่
๘๐๘๙/๒๕๕๖ การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและใส่รหัสส่วนตัวเปรียบได้กับการลงลายมือชื่อตนเอง
ทำรายการเบิกถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป
การกระทำดังกล่าวถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ตาม
พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.๒๕๔๔ มาตรา ๗,๘ และ ๙
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๕๔ การแสดงเจตนาใดแม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม
หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่
เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น
มาตรา ๓๔๐ ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้
ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป
ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน
การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย
หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้
หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา
๙๔ เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง
ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ก)
ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง
(ข)
ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า
ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก
แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้
มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (๒) แห่งมาตรา ๙๓ และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า
พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน
หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์
หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด
0 Comments
แสดงความคิดเห็น