ผู้ตายมีเหตุทะเลาะวิวาทกับกลุ่มของจำเลยและถูกกลุ่มของจำเลยรุมทำร้ายจนถึงแก่ความตาย
โดยไม่มีบุคคลภายนอกเข้าร่วมทำร้ายผู้ตาย การทำร้ายนั้นมีลักษณะร่วมกันกระทำโดยใช้อาวุธหลายชนิดและต้องใช้เวลานานจนผู้ตายได้รับบาดแผลจำนวนมากกว่า
๑๕ แผล
การที่จำเลยมาและอยู่ในกลุ่มที่ทำร้ายผู้ตายจนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ห้ามปรามหรือหลบหนีไปก่อนแสดงว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับพวกที่จะทำร้ายผู้ตายให้ถึงแก่ความตายและผู้ตายก็ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลยกับพวก
ดังนี้ จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
โจทก์บรรยายฟ้องว่า
จำเลยแต่ผู้เดียวฆ่าผู้ตายโดยเจตนา ทางพิจารณาได้ความว่า
จำเลยกับพวกฆ่าผู้ตายโดยเจตนา ดังนี้เป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียด
ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดได้ ตาม
ป.วิ.อ.มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๑๕ และ ๒๒๕
ฎีกาที่ ๖๐๘/๒๕๕๘
แม้จำเลยจะมิใช่ผู้ลงมือยิงผู้ตายและผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วก่อนที่จำเลยจะลงมือใช้ดาบฟัน
แต่ตามพฤติการณ์บ่งชี้เจตนาว่า จำเลยก็มีความประสงค์ต่อความตายของผู้ตายเช่นกัน
จำเลยเองก็อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุขณะ ว. ใช้ปืนยิง
ซึ่งจำเลยสามารถช่วยเหลือได้ทันที เมื่อจำเลยมีบทบาทสำคัญเป็นผู้ชักนำในการก่อเหตุ
จึงเข้าลักษณะเป็นตัวการด้วยกันกับ ว. จำเลยจึงต้องรับเอาผลที่ ว. ยิงผู้ตายเสมือนหนึ่งเป็นการกระทำของจำเลยด้วย
จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น
หลัก ตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกัน มีดังนี้
๑.การร่วมกระทำเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของการกระทำทั้งหมด
๒.การร่วมกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ
๓.การแบ่งหน้าที่กันทำผู้กระทำไม่จำเป็นอยู่ที่เดียวกันก็ได้แต่ต้องสามารถร่วมด้วยช่วยกันได้ทันทีทันใด
๔.การอยู่ร่วมใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุในลักษณะพร้อมที่จะช่วยเหลือได้ในทันที
๕.การอยู่ร่วมในที่เกิดเหตุและก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดซึ่งต้องได้ความว่าหากความผิดที่ก่อให้ผู้อื่นทำนั้นไม่สำเร็จตนเองก็จะเข้าไปช่วยให้สำเร็จ
มิฉะนั้นจะถึงว่าผู้ใช้ตามมาตรา ๘๔
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๘๓ ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป
ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ
ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๙๒
ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง
ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง
ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้
ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้
ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด
เช่น
เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์
กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และทำให้เสียทรัพย์
หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ
ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่ โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ
เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้
ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้
ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง
และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ
ห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้น ๆ
ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม
แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด
ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้
ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง
แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง
ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้
อ้างอิง
ไพบูลย์
วนพงษ์ทิพากร. หลักกฎหมายอาญา
เล่ม ๒. กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์บริษัท กรุง สยาม
พัลลิชชิ่ง จำกัด เนติบัณฑิตยสภา, 2559.
หนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา
ปี ๒๕๖๐ ตอนที่ ๓ จัดพิมพ์โดยเนติบัณฑิตยสภา
http://deka.supremecourt.or.th/search/index/2
0 Comments
แสดงความคิดเห็น