จำเลยและ ส. มิได้มีเจตนาร่วมกันที่จะไปก่อเหตุชิงทรัพย์มาตั้งแต่แรก ครั้น ส. กับจำเลยร่วมกันก่อเหตุทำร้ายแก่ผู้เสียหายที่ ๓ แล้ว ผู้เสียหายที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ กับพวกเข้าไปห้ามปรามและช่วยเหลือผู้เสียหายที่ ๓ ก็ถูก ส. ทำร้าย จนผู้เสียหายที่ ๑ ต้องวิ่งหลบหนีไป โดยมี ส. วิ่งตาม เมื่อ ส. เห็นผู้เสียหายที่ ๒ วิ่งตามมาด้วย จึงหันกลับมาทำร้ายผู้เสียหายที่ ๒ และชิงทรัพย์ผู้เสียหายที่ ๒ ไป ครั้นผู้เสียหายที่ ๑ จะเข้ามาช่วยเหลือผู้เสียหายที่ ๒ ก็ถูก ส. ทำร้ายและชิงทรัพย์ไป โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการส่อว่ารู้เห็นเป็นใจด้วยกับ ส. ขณะชิงทรัพย์ผู้เสียหายที่ ๑ และที่ ๒ แม้ว่าหลังเกิดเหตุจำเลยขับรถจักรยานยนต์ให้ ส. นั่งซ้อนท้ายกลับไป โดยรู้ว่า ส. เอาทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ ๑ และที่ ๒ มาด้วย แต่จำเลยก็มิได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือได้รับส่วนแบ่งทรัพย์สินที่ ส. ได้มาจากการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ การที่ ส. เอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่ ๑ และที่ ๒ ไปเป็นการตัดสินใจของ ส. ตามลำพังซึ่งอยู่นอกเหนือเจตนาของจำเลย จำเลยไม่มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามฟ้อง

ข้อเท็จจริง
                พยานโจทก์เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุ ส. ขอยืมรถจักรยานยนต์จากพยานโดยบอกว่าจะไปเอาเรื่องคนที่มองหน้าตนและ ส. ชวนจำเลยให้ขับรถจักรยานยนต์ไปกับ ส.
                เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นร้านอาหาร ส. มุ่งเข้าไปทำร้ายผู้เสียหายที่ ๓ ทันที ส่วนจำเลยขับรถไปจอดบริเวณหน้าร้าน
                ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าขณะที่ ส. ชิงทรัพย์ผู้เสียหายที่ ๑ และที่ ๒ นั้น จำเลยได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการส่อให้เห็นว่ารู้เห็นเป็นใจด้วยกับการที่ ส. ชิงทรัพย์ผู้เสียหายที่ ๑ และที่ ๒

เจตนา
                การที่จะถือว่าผู้กระทำมีเจตนา จะต้องเป็นในกรณีดังนี้ คือ
                ๑. ผู้กระทำต้อง “รู้” ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิด(มาตรา ๕๙ วรรคสาม) และ
                ๒.ผู้กระทำต้อง “ประสงค์ต่อผล” ของการกระทำของตนนั้น หรือมิฉะนั้นก็จะต้อง “เล็งเห็นผล” ของการกระทำของตนนั้น(มาตรา ๕๙ วรรคสอง)
                การที่จะถือว่าผู้กระทำมีเจตนาตามมาตรา ๓๓๔ ได้ ผู้กระทำจะต้องรู้ข้อเท็จจริงที่ว่าการกระทำของตนเป็นการ “เอาไป” และรู้ด้วยว่าวัตถุแห่งการกระทำเป็น “ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย”
                ผู้กระทำต้องประสงค์ต่อผล “ประสงค์ต่อผล” หมายความว่า มุ่งหมายจะให้เกิดผล หากเกิดผลตามที่มุ่งหมายก็เป็นผลสำเร็จ
                เจตนาพิเศษ คือเจตนาให้เกิดผลโดยตรงเท่านั้น
                 ( อ้างอิง เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์. คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค ๑ บทบัญญัติทั่วไป ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานครสำนักพิมพ์ พลสยาม พริ้นติ้ง ประเทศไทย, ๒๕๕๑. ) 
               
ประมวลกฎหมายอาญา
                มาตรา ๕๙  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
                กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
                ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
                มาตรา ๘๓  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
                มาตรา ๓๓๙  ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
                (๑) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
                (๒) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
                (๓) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
                (๔) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
                (๕) ให้พ้นจากการจับกุม
                ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท
                ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา ๓๓๕ หรือเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสามแสนบาท
                ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
                ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท
                ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต