ต้นกระถินปลูกในที่ดินของจำเลยแต่ห่างจากแนวเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงโจทก์เพียง ๒ถึง ๓ เมตร และสูงกว่าเสาไฟฟ้ามาก ลักษณะต้องถือว่าการปลูกหรือค้ำจุนบกพร่องเพราะเป็นที่น่ากลัวอันตรายจากการหักโค่นของต้นกระถินตกล้มทับสายไฟฟ้าของโจทก์ ปกติธรรมดาต้นไม้ต้องมีวันโค่นล้มและไม่ได้แน่นอนว่าจะโค่นล้มเมื่อใด ต้นไม้ที่ปลูกในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ง่ายเช่นนี้เจ้าของต้องตัดฟันให้เตี้ยลงเพื่อเมื่อโค่นล้มจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หรือจะต้องค้ำจุนด้านที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นให้โค่นล้มเข้ามาในที่ดินของตนเอง การปล่อยต้นกระถินไว้ในลักษณะเช่นนั้นถือว่าเป็นความบกพร่องของจำเลยผู้เป็นเจ้าของต้นกระถินนั้นแล้ว
                ต้นกระถินสูงใหญ่ของจำเลยปลูกอยู่ใกล้แนวเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงโจทก์มาก ถ้าโค่นล้มทับสายไฟฟ้าย่อมจะเกิดอันตรายแก่สายไฟฟ้า อุปกรณ์ และเสาไฟฟ้า ยิ่งกรณีมีพายุฟ้าคะนองโอกาสที่ต้นไม้จะโค่นล้มก็มีมากเป็นธรรมดา ตามปกติแล้วในฤดูฝนหรือก่อนจะถึงฤดูฝนย่อมเกิดเหตุฝนฟ้าคะนองลมพัดแรงและมีต้นไม้หักโค่นล้มได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจคาดการณ์และป้องกันได้ เหตุฝนฟ้าคะนองและมีลมพัดในฤดูฝนหรือก่อนจะถึงฤดูฝนอันเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี จึงมิใช่เหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘

ข้อเท็จจริง
                ต้นกระถินขนาดใหญ่ ปลูกอยู่ห่างจากแนวเสาไฟฟ้าของโจทก์ประมาณ ๒ ถึง ๓ เมตร และสูงกว่าเสาไฟฟ้ามาก
                วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๖ เกิดกลุ่มฝนฟ้าคะนองกำลังปานกลางถึงหนักปกคลุมบริเวณเขตบางเขน และเขตใกล้เคียง ทำให้มีฝนตกบริเวณที่ดินของจำเลย และมีลมพัดจากทางทิศใต้มุ่งไปทิศเหนือผ่านที่ดินของจำเลย ทำให้ต้นกระถินดังกล่าวของจำเลย ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือล้มลงโดยรากหลุดขาด แล้วล้มมาทับสายไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าของโจทก์ ทำให้สายไฟฟ้าดึงรั้งเสาไฟฟ้าคอนกรีตของโจทก์ล้มจำนวน ๕ ต้น สายไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าได้รับความเสียหายจนไฟฟ้าดับทั่วบริเวณ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                มาตรา ๘  คำว่า เหตุสุดวิสัยหมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น
                มาตรา ๔๓๔  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
                บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย
                ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคข้างต้นนั้น ถ้ายังมีผู้อื่นอีกที่ต้องรับผิดชอบในการก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วยไซร้ ท่านว่าผู้ครองหรือเจ้าของจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้นั้นก็ได้

เพิ่มเติม
                เหตุใดๆ อันจะเกิดขึ้น จะให้ผลพิบัติ เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ ตามมาตรา ๘  ซึ่งอาจจะเกิดจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว เป็นต้น หรืออาจเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น หรือเป็นเหตุภัยอื่น เช่น โรคระบาด เป็นต้น
                มาตรา ๔๓๔ วรรคสอง บกพร่องในการปลูก หมายถึง ปลูกเองโดยบกพร่อง
                บกพร่องในการค้ำจุนต้นไม้ หมายถึง ปลูกเองหรือคนอื่นปลูกมาก่อน หรือต้นไม้ขึ้นเอง แล้วไม่ค้ำจุนให้ดี รวมทั้งแผ่กิ่งก้านสาขาไปทำความเสียหายแก่ผู้อื่นด้วย

อ้างอิง
กัญญา ใจการวงค์สกุล. กฎหมายแพ่ง หลักทั่วไป. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๖๐.
เพ็ง เพ็งนิติ. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย ละเมิด พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ และ กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ ฉบับปรับปรุงใหม่. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, ๒๕๖๐.