ห. มารดายกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องเพื่อปลูกบ้านและทำประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ หาใช่อนุญาตให้ผู้ร้องอาศัยอยู่ในที่ดินไม่ แม้การยกที่ดินให้แก่ผู้ร้องมิได้จดทะเบียนการให้ตามกฎหมาย ทำให้นิติกรรมการยกให้เป็นโมฆะก็ตาม แต่ผู้ร้องได้ครอบครองโดยการปลูกบ้านและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตลอดตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า ๑๐ ปี ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒

เพิ่มเติม
                “ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ” เป็นเรื่องในใจ ต้องอาศัยพฤติการณ์ต่างๆ แห่งการเข้ายึดถือครอบครองมาประกอบว่าพอจะเป็นการยึดถือครอบครองอย่างเป็นเจ้าของหรือไม่(ฎีกาที่ ๙๕๖/๒๕๕๒)
                ผู้ร้องได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยได้รับการยกให้มาจากมารดา เมื่อการโอนมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้จึงตกเป็นโมฆะ เมื่อผู้ร้องครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อมา ผู้ร้องจึงอ้างได้ว่าเป็นการครอบครองอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทด้วยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ ซึ่งก็คือการครอบครองปรปักษ์นั่นเอง(ฎีกาที่ ๒๐๓/๒๕๕๒)

อ้างอิง
บัญญัติ สุชีวะ. คำอธิบายกฎหมายลักษณะทรัพย์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๗. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์กรุงสยามพับลิชชิ่ง, ๒๕๕๙.

ข้อเท็จจริง
                ห. มีบุตร ๑๓ คนรวมทั้งผู้ร้อง ผู้คัดค้านทั้งสอง และ ส.
                เดิม ห. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๔๘๑๘ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๒ งาน ๘๓ ตารางวา
                ปี ๒๕๓๙ ผู้ร้องปลูกบ้านในที่ดินพิพาทโดยประกอบกิจการร้านอาหารและเข้าอยู่อาศัย เนื้อที่ ๑ งาน ๔๒ ตารางวา
                ปี ๒๕๔๔ ผู้คัดค้านที่ ๑ ปลูกบ้านในที่ดินพิพาท
                ปี ๒๕๔๗ ส. น้องชายของผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสอง ปลูกบ้านในที่ดินพิพาท
                ผู้คัดค้านที่ ๒ แม้จะยังไม่ได้ปลูกบ้าน แต่ก็ได้ถมดินในที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๕๐ ตารางวา
                ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ห. ได้ทำหนังสือให้ที่ดินโฉนดดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองโดยเสน่หา ตามสำเนาหนังสือให้ที่ดินและสำเนาสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดที่ดิน

คำวินิจฉัย
                ผู้ร้องนำสืบว่า ห. มารดาเป็นผู้ยกที่ดินพิพาทให้ผู้ร้อง ส่วนผู้คัดค้านทั้งสองโต้แย้งว่า ผู้ร้องอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยได้รับอนุญาตจาก ห. เท่านั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ซึ่งจะทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวว่าเป็นเช่นไร คือ ห. แต่ ห. ได้เสียชีวิตไปแล้ว จึงคงมีพยานเฉพาะในส่วนของผู้ร้อง ผู้คัดค้านทั้งสองและญาติพี่น้องเท่านั้น ซึ่งแต่ละคนต้องถือว่าเป็นพยานที่มีส่วนได้เสียเกี่ยวพันเป็นญาติกันทั้งนั้น ซึ่งจะเบิกความไปทางใดทางหนึ่งก็ได้ จึงเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าพยานหลักฐานของผู้ร้องหรือผู้คัดค้านฝ่ายใดมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่ากัน
                เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นพี่สาวคนโต ผู้คัดค้านที่ ๑ และ ส. ต่างก็ปลูกบ้านอย่างมั่นคงถาวรในโฉนดที่ดินแปลงเดียวกันเป็นสัดส่วน ผู้คัดค้านที่ ๒ เข้ามาถมดินในที่ดินของตนเองประมาณ ๕๐ ตารางวา เพื่อเตรียมปลูกบ้านเช่นเดียวกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่า ห. ได้ยกที่ดินให้แก่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านทั้งสองและ ส. มาเป็นเวลานานแล้ว หาใช่กรณีที่ ห. อนุญาตให้ผู้ร้องรวมทั้งผู้คัดค้านทั้งสองและ ส. เข้าไปปลูกบ้านอาศัยแต่อย่างใดไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                มาตรา ๑๓๘๒ บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์