ป.พ.พ.มาตรา ๑๔๗๔ วรรคหนึ่ง
บัญญัติว่า สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน (๑)
ที่สมรสได้มาระหว่างสมรส...และวรรคสองบัญญัติว่า
ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส
เมื่อที่ดินพิพาท ๔ แปลง
ได้มาระหว่างสมรสแม้จะมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวก็เป็นสินสมรสตามบทกฎหมายดังกล่าว
จำเลยกล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาท ๔ แปลง ไม่ใช่สินสมรส จำเลยมีภาระการพิสูจน์
ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๘๔/๑ ประกอบ
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๖
จำเลยประกอบอาชีพหมอนวดและมีรายได้
เงินที่ได้มาก็เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๔๗๔ วรรคหนึ่ง (๑)
เมื่อนำไปซื้อที่ดินพิพาท ๔ แปลง ที่ดินพิพาทย่อมเป็นสินสมรส
เพิ่มเติม
ที่ว่า “ได้มาในระหว่างสมรส”
หมายความถึง ได้มาในระหว่างที่ชายหญิงได้จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยากันตามมาตรา
๑๔๕๗
มาตรา ๑๔๗๔ วรรคสอง
เป็นเพียงบทสันนิษฐานของกฎหมายไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส มิใช่บทสันนิษฐานเด็ดขาด
คู่สมรสฝ่ายที่อ้างว่าเป็นสินส่วนตัวย่อมมีภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวตาม
ป.วิ.พ.มาตรา ๘๔/๑ (ฎีกาที่ ๖๐๐๗/๒๕๓๔)
อ้างอิง
สมชัย
ฑีฑาอุตมากร. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ว่าด้วย ครอบครัว ฉบับสมบูรณ์.
กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์พลสยามพริ้นติ้ง,
๒๕๕๔.
ข้อเท็จจริง
โจทก์(ฝ่ายชาย)เป็นคนสัญชาติเยอรมัน
จำเลย(ฝ่ายหญิง)เป็นคนสัญชาติไทย
เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
ที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ที่ดินพิพาท ๔ แปลง
คือที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๓๓๔๔๑ ได้มาเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๑ กับที่ดินโฉนดเลขที่
๗๕๗๓๑, ๑๕๕๑๔๕,และ ๑๑๒๒๙๙ ได้มาเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
จำเลยมีจำเลยเพียงปากเดียวเบิกความว่า
เงินที่ใช้ซื้อที่ดินพาท ๔ แปลง เป็นเงินส่วนตัวของจำเลย โดยการซื้อที่ดินพิพาท ๔
แปลง โจทก์ได้ทำหนังสือรับรองว่าเงินที่ซื้อเป็นเงินส่วนตัวของจำเลย โดยเงินที่นำมาซื้อเป็นเงินที่จำเลยได้มาหลังจากจดทะเบียนสมรสกับโจทก์จากการประกอบอาชีพหมอนวดได้เงินประมาณ
๘๐,๐๐๐ ยูโร
จำเลยได้ทยอยส่งมาให้พี่สาวและมารดาแต่จำเลยมิได้นำพี่สาวและมารดามาเบิกความเป็นพยานสนับสนุนหรือนำหลักฐานการโอนเงินมาแสดงว่าโอนเงินไปให้ซื้อที่ดินและปลูกบ้านจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หากจำเลยประกอบอาชีพหมอนวดและมีรายได้จำนวนดังกล่าวจริง
เงินที่ได้มาก็เป็นสินสมรส
จำเลยเคยไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจเมื่อวันที่
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ว่า
โจทก์บังคับจำเลยให้ขายที่ดินซึ่งทำมาหาได้ร่วมกันเพื่อจะไปอยู่กับหญิงอื่น ยิ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าที่ดินพิพาท
๔ แปลง ไม่ใช่สินส่วนตัวของจำเลยดังที่กล่าวอ้าง แม้จำเลยจะมีหนังสือรับรองว่า
เงินที่ใช้ซื้อที่ดิน ๔ แปลง เป็นเงินส่วนตัวของจำเลยโดยโจทก์ลงชื่อไว้
ก็ได้ความจากโจทก์ว่า จำเลยให้โจทก์ลงชื่อเพื่อให้มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน
เมื่อฟังประกอบว่า โจทก์เป็นคนสัญชาติเยอรมันเขียนและอ่านภาษไทยไม่ได้
และตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๘๖
ที่ระบุว่าคนต่างด้าวจะได้ซึ่งที่ดินต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมที่ดินจึงน่าเชื่อว่าโจทก์ลงชื่อเพื่อจะได้ที่ดินเท่านั้น
พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบยังฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาท
๔ แปลง เป็นสินส่วนตัวของจำเลย เมื่อจำเลยมีภาระการพิสูจน์ แต่จำเลยนำสืบไม่ได้
จำเลยต้องตกเป็นฝ่ายแพ้คดีในประเด็นข้อพิพาทนี้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๔๗๔ สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(๑) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
(๒) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(๓) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่
ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๘๔/๑ คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตน
ให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น
แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด
คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว
พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
พ.ศ. ๒๕๕๓
มาตรา ๖ ให้นำบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง
มาใช้บังคับแก่คดีเยาวชนและครอบครัวเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
0 Comments
แสดงความคิดเห็น