การที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้วมาเป็นมูลฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายมิใช่เรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค ๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗๑( เดิม) มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรี ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุดมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๒ ดังนั้น เมื่อศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำพิพากษาดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ โดยคู่ความมิได้อุทธรณ์คดีดังกล่าวจึงถึงที่สุดเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ ๑๐ ปี นับแต่วันที่พิพากษาถึงที่สุด คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

ข้อเท็จจริง
                จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ต้องดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดีคือ ๑๐ ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗๑(ปัจจุบัน มาตรา ๒๗๔) เมื่อศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ โจทก์ต้องดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว แต่โจทก์หาได้ดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดีไม่ กลับนำมูลหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลาย  ถือว่าเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

เพิ่มเติม
                การขอบังคับคดี
                กำหนดระยะเวลาบังคับคดีของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา ๒๗๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ระยะเวลา ๑๐ ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา ไม่จำต้องให้คดีถึงที่สุดเสียก่อน (สมชาย จุลนิติ์, คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค ๔ (พิมพ์ครั้งที่ ๓), หน้า ๘๙.) ซึ่งคดีนี้ ศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ กำหนดระยะเวลาการบังคับภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง คือ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ (ตามประมวลกฎมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๕ วรรคสอง)
                ในกรณีที่มีการต่อสู้คดีกันมากกว่าหนึ่งชั้นศาล เช่น สู้กันถึงชั้นอุทธรณ์หรือสู้ถึงชั้นฎีกา ก็ให้เริ่มนับระยะเวลา ๑๐ ปีตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลสุดท้ายในคดีนั้น( สมชาย จุลนิติ์ , เรื่องเดียวกัน, หน้า ๙๐.)

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
                มาตรา ๑๔๗ วรรคสอง คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้นถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง ถ้าได้มีอุทธรณ์ ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาหรือศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาคดีเรื่องนั้นใหม่ มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๒ คำพิพากษาหรือคำสั่งเช่นว่านั้นให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
                มาตรา ๒๗๔ ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ชำระหนี้ (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีหรือบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นตามบทบัญญัติแห่งภาคนี้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง และถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องใดไว้ หรือได้ดำเนินการบังคับคดีโดยวิธีอื่นไว้บางส่วนแล้วภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                          มาตรา ๑๙๓/๓๒  สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด หรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้มีกำหนดอายุความสิบปี  ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด