สิทธิในการก่อสร้างและติดตั้งเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้าตลอดจนวางท่อประปาและท่อระบายน้ำทิ้งของจำเลยที่ ๑ ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของผู้อื่นมีลักษณะเป็นสิทธิเหนือพื้นดินอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และเป็นทรัพยสิทธิที่ก่อตั้งขึ้นตามมาตรา ๑๒๙๘ และมาตรา ๑๔๑๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดย ม. เจ้าของที่ดินพิพาทในขณะนั้นเป็นผู้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินแก่จำเลยที่ ๑ ตามบันทึกข้อความ อันเป็นนิติกรรมการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ ที่ไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามนัยมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีความหมายว่า สิทธิของผู้ทรงสิทธิไม่บริบูรณ์ในฐานะเป็นทรัพยสิทธิที่ตกติดไปกับตัวทรัพย์หรือที่ดินโดยผลของกฎหมาย ไม่ว่าผู้ใดจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องยอมรับสิทธิเหนือพื้นดินอันเป็นคุณแก่ผู้ทรงสิทธิที่มีอยู่เหนือที่ดินแปลงนั้น เมื่อการได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินของจำเลยที่ ๑ ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินของจำเลยที่ ๑ จึงไม่บริบูรณ์ในฐานะเป็นทรัพยสิทธิ จำเลยที่ ๑ จึงไม่อาจอ้างสิทธิเหนือพื้นดินตามนิติกรรมที่ทำไว้กับ ม. เจ้าของที่ดินพิพาทเดิมซึ่งเป็นเพียงบุคคลสิทธิมาบังคับเอาแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ไม่ว่าโจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทมาโดยรู้ว่าเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินไว้หรือไม่ นิติกรรมที่ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินแก่จำเลยที่ ๑ ตามบันทึกข้อความย่อมไม่ผูกพันโจทก์ เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ รื้อถอนเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า ตลอดจนท่อประปาและท่อระบายน้ำทิ้ง อันเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ โดยชอบแล้ว จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ รื้อถอนทรัพย์ดังกล่าวออกไปจากที่ดินพิพาทได้
                โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องว่า หากจำเลยที่ ๑ ไม่รื้อถอนเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้าแรงสูง และท่อน้ำทิ้งออกไปจากที่ดินพิพาทให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ ๑ คำขอของโจทก์ดังกล่าวเป็นเรื่องการบังคับคดีซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการรื้อถอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๕๐ วรรค ๒ ประกอบมาตรา ๓๕๕ (ที่แก้ไขใหม่) จึงไม่อาจกำหนดให้ตามคำขอของโจทก์

เพิ่มเติม
                ทรัพยสิทธิในตำราของผู้ช่วยศาสตราจารย์อานนท์ มาเม้า อธิบายว่า ทรัพยสิทธิจะต้องมีการแสดงออก
                การแสดงออกซึ่งทรัพยสิทธิ หรือ การทรงทรัพยสิทธิ หมายถึง การการปรากฏตัวของทรัพยสิทธิให้เป็นที่รับรู้ของบุคคลโดยทั่วไป “อสังหาริมทรัพย์ใช้ระบบการแสดงออกซึ่งทรัพยสิทธิโดยทางทะเบียน”
                มาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “...การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่” บุคคลผู้ประสงค์จะได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ โดยทางนิติกรรม แต่ไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่มีทางทำให้บุคคลนั้นได้มาซึ่งทรัพยสิทธิที่บริบูรณ์ ดังนั้น การจดทะเบียนเป็นเรื่องสำคัญต่อการแสดงออกซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หากไม่มีการจดทะเบียนให้เรียบร้อยย่อมส่งผลเสีย คือมีผลถึงขนาดไม่ก่อให้เกิดทรัพยสิทธิที่บริบูรณ์ เท่ากับว่ากฎหมายมุ่งบังคับให้บุคคลผู้ประสงค์เป็นผู้ทรงทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ต้องจดทะเบียนทรัพยสิทธิ ฉะนั้นย่อมเกิดผลร้ายตามมา และคุ้มครองความไว้เนื้อเชื่อใจของบุคคลภายนอกผู้สุจริตที่มีต่อระบบทะเบียน

อ้างอิง
อานนท์ มาเม้า. กฎหมายทรัพย์สิน: ความรู้พื้นฐานทางความคิด หลักทั่วไปและบทเบ็ดเสร็จทั่วไป พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานคร: สํานักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๖๐.

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
                มาตรา ๓๕๐ วรรคสอง การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุกหรือธัญชาติ หรือขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครอง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามมาตรา ๓๕๕
                มาตรา ๓๕๕ ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุกหรือธัญชาติ หรือขนย้ายทรัพย์สิน ออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครอง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจดำเนินการรื้อถอน และขนย้ายทรัพย์สินออกจากทรัพย์นั้นได้โดยให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนหรือขนย้ายทรัพย์สินนั้น และให้ถือว่าเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีกันต่อไป
                กรณีตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดการรื้อถอนหรือขนย้ายทรัพย์สินไว้ ณ บริเวณนั้นไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่พฤติการณ์ในการรื้อถอนหรือขนย้ายทรัพย์สินนั้น
                ในการจัดการกับวัสดุที่ถูกรื้อถอนและทรัพย์สินที่ถูกขนย้ายออกจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัยหรือทรัพย์ที่ครอบครองนั้น ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๕๒ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม