จำเลยทั้งสองเดินไปที่โต๊ะอาหารที่ผู้เสียหายทั้งสองนั่งอยู่แล้วร่วมกันใช้ไม้ท่อนและไม้ไผ่ตีผู้เสียหายที่ ๒ จนสลบ และร่วมกันไล่ตีผู้เสียหายที่ ๑ ที่ศีรษะจนมีแผลฉีกขาดหลายแห่ง แล้วยังจับศีรษะผู้เสียหายที่ ๑ กดน้ำ ทั้งที่จำเลยทั้งสองไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายทั้งสองมาก่อน แต่เพียงเพราะมีคนมาบอกจำเลยที่ ๑ ว่าให้จำเลยที่ ๑ กลับบ้านเพราะได้ยินว่าคนชื่อ ด. จะฆ่าจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสองจึงร่วมกันกระทำความผิดต่อผู้เสียหายทั้งสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นเรื่องอุกอาจ ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยทั้งสองได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายที่ ๑ แล้ว และไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือมีเหตุอื่นดังที่ยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็มิใช่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้

ข้อเท็จจริง
                วันเวลาเกิดเหตุผู้เสียหายที่ ๑ และที่ ๒ กับเพื่อนหญิงอีกสองคนไปรับประทานอาหารที่สวนอาหารครัวริมน้ำ จำเลยทั้งสองซึ่งรับประทานอาหารอยู่ที่ร้านเดียวกันกับพวกกำลังออกจากร้าน แต่จำเลยทั้งสองกลับเดินมาที่โต๊ะอาหารที่ผู้เสียหายทั้งสองนั่งอยู่ถามหาคนชื่อดุ่ย แล้วใช้มือล็อกคอผู้เสียหายที่ ๒ ใช้ไม้ไผ่ตีที่กกหูจนผู้เสียหายที่ ๒ สลบ แล้ววิ่งไล่ตามผู้เสียหายที่ ๑ ที่วิ่งหลบหนีไปทางสระน้ำ ใช้ไม้ตีที่ศีรษะ ท้ายทอยผู้เสียหายที่ ๑ จับศีรษะผู้เสียหายที่ ๑ กดน้ำจนสลบ แล้วจำเลยทั้งสองขึ้นรถกระบะหลบหนีไป
                จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในข้อหาทำร้ายร่างกาย ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นให้การรับสารภาพตามฟ้อง
                ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๘๐, ๒๙๕ ประกอบมาตรา ๘๓ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ ๑๐ ปี ฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่น จำคุกคนละ ๔ เดือน และปรับคนละ ๔,๐๐๐บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นจำคุกคนละ ๕ ปี ฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจำคุกคนละ ๒ เดือน และปรับคนละ ๒,๐๐๐บาท รวมจำคุกคนละ ๕ ปี ๒ เดือน และปรับคนละ ๒,๐๐๐บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๓ ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยทั้งสองโดยให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติรวม ๔ ครั้งภายในกำหนด ๑  ปี  ตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนดและให้จำเลยทั้งสองทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยทั้งสองและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐
                โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษจำคุก ไม่ลงโทษปรับและไม่คุมความประพฤติจำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
                จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน

ประมวลกฎหมายอาญา
                มาตรา ๕๖ ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกหรือปรับ และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปีไม่ว่าจะลงโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตามหรือลงโทษปรับ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น
                (๑) ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน หรือ
                (๒) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ
                (๓) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่าห้าปี แล้วมากระทำความผิดอีก โดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
                และเมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกความผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ ไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุกหรือปรับอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่าง เพื่อให้โอกาสกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนดแต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้
                เงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจกำหนดข้อเดียวหรือหลายข้อตามควรแก่กรณีได้ ดังต่อไปนี้
                (๑) ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือจัดให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์
                (๒) ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ
                (๓) ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก
                (๔) ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษ ความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
                (๕) ให้เข้ารับการฝึกอบรม ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
                (๖) ห้ามออกนอกสถานที่อยู่อาศัย หรือห้ามเข้าในสถานที่ใดในระหว่างเวลาที่ศาลกำหนด  ทั้งนี้ จะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางด้วยก็ได้
                (๗) ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเยียวยาความเสียหายโดยวิธีอื่นให้แก่ผู้เสียหายตามที่ผู้กระทำความผิดและผู้เสียหายตกลงกัน
                (๘) ให้แก้ไขฟื้นฟูหรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม หรือชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการดังกล่าว
                (๙) ให้ทำทัณฑ์บนโดยกำหนดจำนวนเงินตามที่ศาลเห็นสมควรว่าจะไม่ก่อเหตุร้าย หรือก่อให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สิน
                (๑๐) เงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก หรือเงื่อนไขในการเยียวยาผู้เสียหายตามที่เห็นสมควร
                เงื่อนไขตามที่ศาลได้กำหนดตามความในวรรคสองนั้น ถ้าภายหลังความปรากฏแก่ศาลตามคำขอของผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้น พนักงานอัยการหรือเจ้าพนักงานว่าพฤติการณ์ที่เกี่ยวแก่การควบคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อศาลเห็นสมควรศาลอาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือเพิกถอนข้อหนึ่งข้อใดเสียก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขข้อใดตามที่กล่าวในวรรคสองที่ศาลยังมิได้กำหนดไว้เพิ่มเติมขึ้นอีกก็ได้ หรือถ้ามีการกระทำผิดทัณฑ์บนให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม