การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรที่จะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคท้าย ผู้อุทธรณ์ต้องยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ จะยื่นเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวหาได้ไม่ ดังนี้ เมื่อคดีนี้ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๙ การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๙ จึงเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้ว
                โจทก์ได้บรรยายมาให้คำฟ้องแล้วว่า ที่ดินพิพาทมีราคาประเมิน ๕๐,๐๐๐ บาท และโจทก์ถือเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในคดีนี้ จำเลยซึ่งมีทนายความช่วยแก้ต่างให้จึงย่อมต้องทราบมาแต่ต้นแล้วว่าแม้จะอย่างไรก็ตามคดีนี้ก็ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยจึงอยู่ในวิสัยที่จะยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงพร้อมกับอุทธรณ์

เพิ่มเติม
                ผู้พิพากษาที่จะรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้นั้น จะต้องเป็นผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาที่สืบพยานประเด็นไม่มีอำนาจรับรอง(ฎีกาที่ ๓๔๒๐/๒๕๓๘), ผู้พิพากษาที่เพียงแต่สั่งคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ไม่ใช่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้น จึงไม่มีอำนาจรับรองให้อุทธรณ์(ฎีกาที่ ๕๕๑๕/๒๕๔๕)

อ้างอิง
สมศักดิ์ เอี่ยมพลับใหญ่. หลักทฤษฎีพื้นฐาน- ปฏิบัติอย่างมืออาชีพ อุทธรณ์-ฎีกา คดีแพ่ง-อาญา ครบทุกประเด็น แบบฉบับขั้นเทพ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์บัณฑิตอักษร, ๒๕๕๘.

ข้อเท็จจริง
                ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๙ และจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๙ ต่อมาเมื่อโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว ศาลชั้นต้นได้ส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค ๔ หลังจากนั้นศาลอุทธรณ์ภาค ๔ จดรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๙ ให้ศาลชั้นต้นเรียกให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติม ครั้นเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๙ จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นรับรองให้ตามที่จำเลยขอ
                จำเลยฎีกาว่า สาเหตุที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่ได้ที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า มีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ภายหลังจากยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เนื่องจากจำเลยเพิ่งมาทราบเมื่อศาลชั้นต้นตีราคาที่ดินพิพาทตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ว่าที่ดินพิพาทมีราคา ๑๒,๐๐๐ บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยก็ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลที่ได้นั่งพิจารณาพิพากษาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ในทันที ทั้งผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้น ก็รับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงควรที่จะรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษา
               
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
                มาตรา ๒๒๔  ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจ แล้วแต่กรณี
                บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิได้ให้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัวและคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
                การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง