สัญญาเช่าซื้อข้อ ๕ วรรคสอง ระบุว่า
“ในกรณีที่รถสูญหาย...ให้ถือว่าสัญญานี้สิ้นสุดลงโดยหากเป็นความผิดของผู้เช่า และ/หรือเนื่องจากการที่ผู้เช่าได้ปฏิบัติผิดข้อตกลงใดๆ
เกี่ยวกับการใช้รถตามที่ระบุในข้อ ๔ และ/หรือผู้เช่าปฏิบัติผิดสัญญาเกี่ยวกับการทำประกันภัยตามที่ระบุในข้อ
๗ วรรคแรก ทำให้เจ้าของไม่อาจได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ ผู้เช่าจะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายไม่น้อยกว่าจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญานี้
แต่หากเป็นกรณีอื่น ผู้เช่าต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆให้แก่เจ้าของจนครบถ้วนตามที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร”
ซึ่งข้อสัญญาที่ว่า “...ผู้เช่าปฏิบัติผิดสัญญาเกี่ยวกับการทำประกันภัยตามที่ระบุในข้อ
๗ วรรคแรก ทำให้เจ้าของไม่อาจได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ ผู้เช่าจะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายไม่น้อยกว่าจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญานี้...
ทั้งดูที่การที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปไม่ใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อเป็นการขัดต่อประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา
เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๓
ข้อ ๔ (๔) ที่ระบุว่า ข้อ ๔
ข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือมีความหมายทำนองเดียวกันดังต่อไปนี้
(๔)
ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดจำระค่าเช่าซื้อให้ครบถ้วนตามสัญญาในกรณีรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายถูกทำลาย
ถูกยึด ถูกอายัด หรือถูกริบ โดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ เว้นแต่ค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับหรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม
การติดตามรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อ ค่าทนายความ หรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็น
และมีเหตุผลอันสมควร ซึ่งเป็นประกาศที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญาเช่าซื้อ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย
ผู้ให้เช่าซื้อคงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับหรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม
การติดตามรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อ ค่าทนายความหรือค่าอื่นใดเพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควรเท่านั้น
ซึ่งโจทก์จะเสียหายอย่างไรเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับว่าความสูญหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดจากความผิดของจำเลยและทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์เสียหายอันเนื่องมาจากความผิดของจำเลยเพียงใดประกอบกันด้วย
ข้อเท็จจริง
เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗
จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ในราคา ๕๕๙,๗๙๔.๖๐ บาทตกลงชำระค่าเช่าซื้อ ๖๐
งวด งวดละ ๙,๓๒๙.๙๑ บาท ต่อเดือน โดยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เริ่มชำระงวดแรกวันที่ ๒๕
มิถุนายน ๒๕๔๗ งวดต่อไปชำระภายในวันที่ ๒๕
ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบตามสัญญาเช่าซื้อ ภายหลังทำสัญญาจำเลยชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์
๔๐ งวด ถึงงวดประจำวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๐ ต่อมาจำเลยแจ้งว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเมื่อวันที่
๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
ระหว่างอยู่ในความครอบครองของจำเลยตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาถึงรถยนต์ที่เช่าซื้อมีราคาเงินสดอยู่ที่
๖๔๒,๐๕๖.๐๗ บาท โดยจำเลยได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์แล้วถึง ๔๐ งวด เป็นเงิน
๓๗๓,๑๙๖.๔๐ บาท เมื่อพิจารณารวมกับผลประโยชน์ตอบแทนที่โจทก์ควรจะได้รับเป็นดอกเบี้ยซึ่งโจทก์ไม่นำสืบว่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปเพียงใด
เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยรับผิดชำระเงิน
๗๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง(ฟ้องวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๓)
จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา
เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.๒๕๔๓
ข้อ ๔ ข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือมีความหมายทำนองเดียวกัน
ดังต่อไปนี้
(๔)
ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อให้ครบถ้วนตามสัญญาในกรณีรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย
ถูกทำลาย ถูกยึด ถูกอายัด หรือถูกริบ โดยมิใช่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ
เว้นแต่ค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับหรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม
การติดตามรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อ ค่าทนายความ หรือค่าอื่นใด
เพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร
ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา
เรื่อง
ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๕ ทวิ
แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑
ประกอบกับมาตรา ๓ มาตรา ๔ และมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะสัญญา
พ.ศ. ๒๕๒๒ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิก
(๑) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง
ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๕๕
(๒) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง
ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๕๘
ข้อ ๒ ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์” หมายความว่า
การประกอบกิจการค้าโดยเจ้าของนำเอารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ของตนออกให้บุคคลธรรมดาเช่า
และให้คำมั่นว่าจะขายรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์หรือว่าจะให้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์นั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า
โดยมีเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
“รถยนต์” หมายความว่า
รถยนต์นั่งส่วนบุคคลหรือรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลเพื่อใช้เป็นการส่วนตัวเท่านั้น
โดยไม่นำไปใช้ทำการขนส่ง เพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเอง หรือเพื่อสินจ้าง
“รถจักรยานยนต์” หมายความว่า
รถที่เดินด้วยกำลังเครื่องยนต์หรือกำลังไฟฟ้าและมีล้อไม่เกินสองล้อถ้ามีพ่วงข้างมีล้อเพิ่มอีกไม่เกินหนึ่งล้อ
และให้หมายความรวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์ด้วยเพื่อใช้เป็นการส่วนตัวเท่านั้น
โดยไม่นำไปใช้ทำการขนส่ง เพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเอง หรือเพื่อสินจ้าง
“ค่าใช้จ่ายที่ผู้ให้เช่าซื้อเรียกเก็บได้” หมายความว่า ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าภาษีรถประจำปี เงินเพิ่มเนื่องจากการต่อภาษีล่าช้า ค่าธรรมเนียมเปลี่ยนเครื่องยนต์
สีรถ ชนิดเชื้อเพลิง (ต่อรายการ) ค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์
ค่าธรรมเนียมแผ่นป้ายทะเบียนรถ ค่าธรรมเนียมใบแทนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถ
ค่าปรับเนื่องจากการเปลี่ยนเครื่องยนต์ สีรถ ชนิดเชื้อเพลิง
และค่าเบี้ยประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
“ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ
ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ” หมายความว่า
เงินที่ผู้ให้เช่าซื้อเรียกเก็บจากผู้เช่าซื้อเพื่อเป็นค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้เงินค่างวดเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้
แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงค่าติดตามเอารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์กลับคืนของผู้ให้เช่าซื้อ
“อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) หมายความว่า อัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อในลักษณะของการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก
เช่นเดียวกับการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย
โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวด
ข้อ ๔ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค
ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน
มีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร โดยมีจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว
และต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) รายละเอียดเกี่ยวกับ
ก. ยี่ห้อ รุ่น
หมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถัง
สภาพของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ว่าเป็นรถใหม่หรือรถใช้แล้ว
และระยะทางที่ได้ใช้แล้ว โดยให้มีหน่วยเป็นกิโลเมตรหรือไมล์
รวมทั้งภาระผูกพันของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ (ถ้ามี)
ข. ราคาเงินสด จำนวนเงินจอง
จำนวนเงินดาวน์ ราคาเงินสดส่วนที่เหลือ อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อปี
(Flat Interest Rate) ในการคำนวณผลตอบแทนให้ระบุอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) จำนวนงวดที่ผ่อนชำระ จำนวนเงินค่าเช่าซื้อทั้งสิ้น จำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่ผ่อนชำระในแต่ละงวด
จำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระในแต่ละงวด
เริ่มชำระค่างวดแรกในวันที่และชำระค่างวดต่อ ๆ ไปภายในวันที่
ค. วิธีคำนวณจำนวนเงินค่าเช่าซื้อ
จำนวนค่าเช่าซื้อ
จำนวนดอกเบี้ยที่ชำระและจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระในแต่ละงวด
ง.
ตารางแสดงภาระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อสำหรับผู้เช่าซื้อแต่ละราย
โดยให้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนงวดค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระ วัน เดือน ปี
ที่ชำระเงินค่างวดเช่าซื้อ จำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่ชำระในแต่ละงวด
โดยแยกเป็นเงินต้น ดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และจำนวนเงินค่าเช่าซื้อคงค้าง
โดยแยกเป็นเงินต้นคงค้าง ดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อ
รวมทั้งจำนวนส่วนลดที่ผู้เช่าซื้อจะได้รับตาม (๑๐) ตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้
เพื่อส่งมอบให้ผู้เช่าซื้อพร้อมกับหนังสือสัญญาเช่าซื้อ
จ.
อัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประกาศกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้
โดยให้ระบุวิธีการคิดคำนวณค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ
ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อในแต่ละรายการไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาเช่าซื้อ
ในกรณีที่ยังไม่มีประกาศของคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้
ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ
ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อได้เพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ใช้จ่ายไปจริงโดยประหยัด ตามความจำเป็น และมีเหตุผลอันสมควร ทั้งนี้ อัตราดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นในภายหลังได้ เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้กระทำเช่นว่านั้นได้
(๒) เมื่อผู้เช่าซื้อได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วน
รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ผู้ให้เช่าซื้อเรียกเก็บได้ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อตกเป็นของผู้เช่าซื้อทันที
โดยผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ตามที่กรมการขนส่งทางบกเรียกเก็บ
และผู้ให้เช่าซื้อต้องดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ดังกล่าวให้เป็นชื่อของผู้เช่าซื้อภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อได้รับเอกสารที่จำเป็นสำหรับการจดทะเบียนครบถ้วนจากผู้เช่าซื้อ เว้นแต่เป็นกรณีที่มีเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถทำการจดทะเบียนโอนได้โดยมิใช่เป็นความผิดของผู้ให้เช่าซื้อ
หากผู้ให้เช่าซื้อไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง
ผู้ให้เช่าซื้อยินยอมเสียเบี้ยปรับโดยคำนวณจากมูลค่าเช่าซื้อในอัตราเท่ากับอัตราเบี้ยปรับที่ผู้เช่าซื้อต้องชำระในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ
และถ้าผู้เช่าซื้อดำเนินคดีทางศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ
ผู้ให้เช่าซื้อต้องรับภาระค่าธรรมเนียม ค่าทนายความ หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ
ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีดังกล่าว ทั้งนี้
เพียงเท่าที่ผู้เช่าซื้อได้ใช้จ่ายไปจริง โดยประหยัด ตามความจำเป็น
และมีเหตุผลอันสมควร
(๓)
กรณีผู้ให้เช่าซื้อประสงค์จะนำเงินค่างวดของผู้เช่าซื้อที่ได้ชำระแล้วในงวดต่อมาเพื่อหักชำระเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ให้เช่าซื้อเรียกเก็บได้ซึ่งผู้เช่าซื้อต้องชำระในแต่ละงวด
ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ
ค่าเบี้ยปรับชำระค่างวดล่าช้า
ผู้ให้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อทราบก่อนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับแจ้ง
แต่ถ้าผู้ให้เช่าซื้อไม่มีหนังสือดังกล่าว
ผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธินำเงินค่างวดต่อมานั้นมาหักชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว
และผู้ให้เช่าซื้อจะถือว่าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อที่นำมาชำระเต็มจำนวนในงวดนั้นไม่ได้
กรณีผู้ให้เช่าซื้อได้หักเงินค่างวดตามวรรคหนึ่งแล้ว
ผู้ให้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อนำเงินในส่วนที่ขาดของค่างวดเช่าซื้อนั้น
มาชำระให้ครบถ้วนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือดังกล่าว
หากผู้เช่าซื้อมิได้ชำระเงินส่วนที่ขาดให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าผู้เช่าซื้อผิดนัดเฉพาะเงินค่างวดเช่าซื้อบางส่วนที่ยังมิได้ชำระนั้น
(๔)
ในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวดสามงวดติด ๆ กัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อยสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือและผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น
ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้
(๕) เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงไม่ว่ากรณีใด ๆ
และผู้ให้เช่าซื้อได้กลับเข้าครอบครองรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ให้เช่าซื้อ ทั้งนี้
ก่อนนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขายโดยวิธีประมูลหรือวิธีขายทอดตลาดที่เหมาะสม
ผู้ให้เช่าซื้อมีหน้าที่ดำเนินการตามลำดับ ดังต่อไปนี้
ก.
ผู้ให้เช่าซื้อต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อก่อนได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ
โดยผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อตามอัตราและการคิดคำนวณตาม (๑๐)
แต่ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ใช้สิทธิดังกล่าวภายในระยะเวลานั้น
ให้ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือแจ้งผู้ค้ำประกันทราบเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่สิ้นระยะเวลาการใช้สิทธิของผู้เช่าซื้อเพื่อให้ผู้ค้ำประกันใช้สิทธินั้น
โดยให้ผู้ค้ำประกันได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้เช่าซื้อ
กรณีผู้ให้เช่าซื้อไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง
ผู้ให้เช่าซื้อต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุของการไม่ได้แจ้งแก่ผู้เช่าซื้อหรือผู้ค้ำประกัน
แล้วแต่กรณี
ข.
ผู้ให้เช่าซื้อต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี)
ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันประมูลหรือวันขายทอดตลาด ทั้งนี้
ในหนังสือแจ้งนั้นอย่างน้อยต้องระบุชื่อผู้ทำการขายวันและสถานที่ที่ทำการขายในแต่ละครั้งไว้ในหนังสือฉบับเดียวกันก็ได้
กรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขายตามวรรคหนึ่ง
หากได้ราคาเกินกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ
ผู้ให้เช่าซื้อต้องคืนเงินส่วนที่เกินนั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่ถ้าได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ
ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดส่วนที่ขาดนั้น
ค.
ผู้ให้เช่าซื้อต้องมีหนังสือแจ้งชื่อผู้ทำการขาย วัน สถานที่ที่ทำการขาย ราคาที่ขายได้และรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขาย ทั้งนี้
เพียงเท่าที่ได้ใช้จ่ายไปจริง โดยประหยัด ตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร
รวมทั้งจำนวนเงินส่วนเกินที่คืนให้แก่ผู้เช่าซื้อ หรือจำนวนเงินที่ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ
ให้ผู้เช่าซื้อทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทำการขาย ทั้งนี้ ผู้เช่าซื้อจะไม่ได้รับส่วนลดตามอัตราและการคิดคำนวณตาม (๑๐)
มูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อตาม
ก. และ ข.
ให้คำนวณจากเงินค่างวดที่ค้างชำระและเงินค่างวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระที่ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อและให้หมายความรวมถึงเบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด
ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ ทั้งนี้
เพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ใช้จ่ายไปจริง โดยประหยัด ตามความจำเป็น
และมีเหตุผลอันสมควร
(๖) ผู้ให้เช่าซื้อต้องไม่เข้าสู้ราคาไม่ว่าโดยวิธีประมูลหรือวิธีขายทอดตลาดรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ให้เช่าซื้อ
ทั้งนี้ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
(๗)
ผู้ให้เช่าซื้อได้จัดให้ผู้เช่าซื้อสามารถใช้สิทธิในการเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขการรับประกันของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อจากผู้ขายหรือผู้ผลิตได้โดยตรง
(๘)
ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยในมูลหนี้ที่ยังคงค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อ
โดยผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อตามอัตราและการคิดคำนวณตาม (๑๐)
ในส่วนที่เกินจากมูลหนี้ค้างชำระ ให้บริษัทประกันภัยจ่ายให้แก่ผู้เช่าซื้อ
(๙) ในกรณีที่กฎหมายหรือสัญญากำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือ
ผู้ให้เช่าซื้อจะส่งคำบอกกล่าวทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้แก่ผู้เช่าซื้อและผู้คํ้าประกันตามที่อยู่ที่ระบุในสัญญาหรือที่อยู่ที่ผู้เช่าซื้อหรือผู้ค้ำประกันแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือครั้งหลังสุด เว้นแต่กรณีที่ผู้เช่าซื้อหรือผู้ค้ำประกันมีความประสงค์จะขอรับคำบอกกล่าวเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ผู้เช่าซื้อหรือผู้ค้ำประกันต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ให้เช่าซื้อทราบ
(๑๐)
กรณีที่ผู้เช่าซื้อมีความประสงค์จะขอชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียว
โดยไม่ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายงวดตามสัญญาเช่าซื้อ เพื่อปิดบัญชีค่าเช่าซื้อ
ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
โดยให้คิดคำนวณตามมาตรฐานการบัญชีว่าด้วย เรื่อง สัญญาเช่า ที่คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี
ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชีกำหนดและปรับปรุงมาตรฐานการบัญชี
เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการจัดทำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีและกฎหมายอื่น
(๑๑)
กรณีสัญญาเช่าซื้อกำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องจัดหาผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อ
ผู้ให้เช่าซื้อต้องตกลงกับผู้เช่าซื้อว่าจะจัดให้มีการทำสัญญาค้ำประกันซึ่งมีคำเตือนสำหรับผู้ค้ำประกันไว้หน้าสัญญาค้ำประกันนั้นโดยมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน
มีหัวเรื่องว่า “คำเตือนสำหรับผู้ค้ำประกัน” ใช้อักษรตัวหนาขนาดไม่เล็กกว่าสี่มิลลิเมตร
และอย่างน้อยต้องมีข้อความตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้
โดยมีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร
และมีจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว
และกำหนดข้อสัญญาเกี่ยวกับความรับผิดของผู้ค้ำประกันในสัญญาค้ำประกัน
ซึ่งมีสาระสำคัญตรงกับคำเตือนดังกล่าว
(๑๒) การผิดสัญญาเช่าซื้อที่ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ
จะต้องเป็นข้อความที่ผู้ให้เช่าซื้อระบุไว้เป็นการเฉพาะด้วยตัวอักษรสีแดง
หรือตัวดำหรือตัวเอน ที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป
ข้อ ๕ ข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือมีความหมายทำนองเดียวกัน
ดังต่อไปนี้
(๑)
ข้อสัญญาที่เป็นการผลักภาระให้ผู้เช่าซื้อเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม ค่าภาษีอากร หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ
เกี่ยวกับรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ผู้เช่าซื้อจะเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ดังกล่าว
(๒)
ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อคิดเบี้ยปรับในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่างวดตามสัญญาเช่าซื้อเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี
(Effective Interest Rate) บวกร้อยละสามต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี
(๓)
ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อเรียกให้ผู้เช่าซื้อเปลี่ยนแปลงผู้ค้ำประกัน
เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย
หรือศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือเป็นบุคคลล้มละลาย
หรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อให้ครบถ้วนตามสัญญาในกรณีรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย
ถูกทำลาย ถูกยึด ถูกอายัด หรือถูกริบ โดยมิใช่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ
เว้นแต่เบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อหรือค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คงเหลือ ทั้งนี้ เพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ใช้จ่ายไปจริง โดยประหยัด
ตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร
(๕)
ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชำระเงินใด ๆ
ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและกลับเข้าครอบครองรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อ
เว้นแต่เบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ
หรือค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คงเหลือ ทั้งนี้
เพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ใช้จ่ายไปจริงโดยประหยัด ตามความจำเป็น
และมีเหตุผลอันสมควร
(๖) ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อรับการโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อหรือรับภาระผูกพันใด
ๆ เพิ่มเติมจากสัญญาเช่าซื้อ โดยผู้เช่าซื้อมิได้ยินยอมเป็นหนังสือ
(๗)
ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อเรียกเก็บเงินหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ
นอกเหนือจากที่ประกาศนี้กำหนด
ข้อ ๖ บรรดาสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้ทำกับผู้บริโภคตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา
เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.
๒๕๕๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไป
ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่
๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป
ประกาศ
ณ วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑
สำเรียง เมฆเกรียงไกร
ประธานกรรมการว่าด้วยสัญญา
0 Comments
แสดงความคิดเห็น