ก. อ้างว่าที่ดินบางส่วนที่โจทก์และจำเลยตกลงซื้อขายกันเป็นของ ก. เป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ซื้อในอันจะครองที่ดินพิพาทเป็นปกติสุข เพราะบุคคลภายนอกมีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินพิพาทอยู่ในเวลาที่โจทก์ซื้อจากจำเลย กรณีเป็นเรื่องการรอนสิทธิ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๗๕ แม้โจทก์ระบุข้อหาหรือฐานความผิดและบรรยายข้อเท็จจริงในคำฟ้องแล้วสรุปว่าเป็นเรื่องการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดก็เป็นเรื่องที่โจทก์ยกเอากฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงตามความเข้าใจของตนเอง แต่ในคดีแพ่งผู้ฟ้องคดีไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้างในคำฟ้อง เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและเหตุผลที่จำต้องรับผิดให้ชัดแจ้งก็พอแล้ว ส่วนในการวินิจฉัยคดีศาลก็มีอำนาจยกบทกฎหมายที่ถูกที่ถูกต้องขึ้นมาปรับแก่คดี ให้จำเลยรับผิดตรงตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๔ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นเรื่องการรอนสิทธิจึงชอบแล้ว หาใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ ไม่
                ฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายใน ๓ เดือน นับแต่วันที่โจทก์ยอมตามที่ ก. เรียกร้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๘๑ จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา โดยมิได้ให้การไว้เป็นประเด็นแห่งคดี จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๘ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง(เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้องคดี

เพิ่มเติม
                บรรยายฟ้อง - ห้ามมิให้ปฏิเสธพิพากษา
                แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องอ้างว่าจำเลยเป็นตัวแทน แต่เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นเรื่องตกลงร่วมกันประกอบการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์เข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนไปว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาตัวแทน ศาลย่อมมีอำนาจใช้บทบัญญัติเรื่องสัญญาต่างตอบแทนบังคับแก่คดีได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๑๓๔(ฎีกาที่ ๑๕๖๖๘/๒๕๕๘)

                คำฟ้องคดีแพ่งของโจทก์ไม่จำต้องยกบทกฎหมายขึ้นมาอ้างในคำฟ้อง เพียงแต่กล่าวข้อเท็จจริงและอ้างเหตุผลที่จำเลยต้องรับผิดก็พอ ศาลย่อมมีอำนาจยกบทกฎหมายขึ้นมาปรับแก่คดีตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความเอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๓๔

ข้อเท็จจริง
                โจทก์ฟ้องโดยสรุปว่า...หากโจทก์ทราบมาตั้งแต่แรกว่าที่ดินดังกล่าวไม่ติดถนนสาธารณะก็จะไม่ทำสัญญาซื้อที่ดินจากจำเลย การแสดงเจตนาทำสัญญาซื้อขายที่ดินลงวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๖ เป็นการสำคัญผิดในคุณสมบัติของที่ดินซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญตกเป็นโมฆียะโจทก์บอกล้างแล้วสัญญาซื้อขายที่ดินตกเป็นโมฆะ จำเลยต้องคืนเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน ๒,๘๙๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒,๗๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
                ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า  เมื่อวันที่ ๒๐กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ นายสุ่น ทำสัญญายกที่ดินเนื้อที่ ๓๕ ไร่ ตามใบเสร็จรับชำระภาษีบำรุงท้องที่เลขสำรวจที่ ๖๕/๔๙ ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลย ตามสำเนาสัญญาตีใช้หนี้เอกสารหมาย จ.๑ แผ่นที่ ๒ ต่อมาเดือนสิงหาคม ๒๕๕๖  นายคุณาสิณ นายอธิศ นายหน้าซื้อขายที่ดินเสนอขายที่ดินเนื้อที่ ๓๕ ไร่ ซึ่งมีต้นปาล์มน้ำมันอายุ ๖ ปี ปลูกเต็มพื้นที่ ด้านทิศตะวันตกติดถนนสายทุ่งทะเลวิธีให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไปดูที่ดินตามที่ในหน้านั้นชี้ว่าด้านทิศตะวันตกติดถนนสายทุ่งทะเล-ลิกี ครั้นวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๖ โจทก์ทำสัญญาซื้อที่ซื้อขายที่ดินดังกล่าวจากจำเลยเนื้อที่ ๓๕ ไร่ ราคา ๒,๗๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ชำระราคาครบถ้วนแล้ว       ต่อมา ก. โต้แย้งว่าต้นปาล์มน้ำมันในที่ดินด้านทิศ ด้านติดถนนสายทุ่งทะเล-ลิกี มีเนื้อที่ ๑๕ ไร่อยู่ในแนวเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๑๔๙๑ ของ ก. วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดสอบเขตแล้วปรากฏว่าที่ดินด้านติดถนนสายทุ่งทะเล-ลิกี อยู่ในแนวเขตที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๑๔๙๑ ของ ก. ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.๕ โจทก์และ ก. ทำบันทึกยอมรับผลการรังวัดสอบเขตที่สถานีตำรวจภูธรเกาะกลางจังหวัดกระบี่ ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.๖ วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๗ โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมและทวงเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยคืนจากจำเลย

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
                มาตรา ๑๓๔ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ห้ามมิให้ศาลที่รับฟ้องคดีไว้ ปฏิเสธไม่ยอมพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีโดยอ้างว่า ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดี หรือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะใช้บังคับนั้นเคลือบคลุมหรือไม่บริบูรณ์
                มาตรา ๑๔๒ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
                มาตรา ๑๗๒ ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๕๗ ให้โจทก์เสนอข้อหาของตนโดยทำเป็นคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้น
                คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น
                ให้ศาลตรวจคำฟ้องนั้นแล้วสั่งให้รับไว้ หรือให้ยกเสีย หรือให้คืนไป ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘