แม้ในชั้นรับคำร้องศาลชั้นต้นได้สั่งให้จำเลยที่
๑ ส่งสำเนาคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีแก่ผู้ซื้อทรัพย์ก็ตาม
แต่เมื่อศาลชั้นต้นตรวจพบว่ายังไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีมีสิทธิโต้แย้งคัดค้านคำร้องของจำเลยที่
๑ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑
แถลงภูมิลำเนาของผู้ซื้อทรัพย์และส่งหมายนัดสำเนาคำร้องเพื่อให้โอกาสผู้ซื้อทรัพย์ได้โต้แย้งคัดค้านก่อน
คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ ๑ มอบฉันทะให้ ส. มายื่นคำร้องขอคัดถ่ายสำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของผู้ซื้อทรัพย์เพื่อแถลงต่อศาลและวางเงินค่าส่งหมายนัดสำเนาคำร้อง
ส. จึงมีอำนาจเพียงยื่นคำร้องและวางเงินค่าส่งหมายนัดสำเนาคำร้องตามที่ระบุไว้ในใบมอบฉันทะเท่านั้น
การที่ ส. ทำคำร้องขอคัดถ่ายสำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของผู้ซื้อทรัพย์โดยลงชื่อเป็นผู้เรียงและเขียน
เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องกระทำโดยคู่ความหรือทนายความ การมอบฉันทะไม่ทำให้
ส. อยู่ในฐานะคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑ (๑๑) เมื่อ ส. ไม่ใช่คู่ความหรือผู้ซึ่งจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความ
การเรียงคำร้องของ ส. ให้แก่จำเลยที่ ๑ จึงขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.๒๕๒๘
มาตรา ๓๓ เป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑
ได้แถลงภูมิลำเนาของผู้ซื้อทรัพย์ต่อศาลแล้ว หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑
มิได้ดำเนินการอย่างใดจนถึงวันนัดไต่สวนคำร้องต้องถือว่าจำเลยที่ ๑
เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด อันเป็นการทิ้งคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๑๗๔(๒)
ข้อเท็จจริง
จำเลยที่ ๑
ยื่นคำร้องว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของเจ้าหน้าที่
๑ โดยรวบรัดทำให้ราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๕๑๓ และเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ ๑ ทราบก่อนวันขายไม่น้อยกว่า
๑๕ วัน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๐๖ และมาตรา ๗๙ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี
วันนัดไต่สวนคำร้องศาลชั้นต้นตรวจพบว่ายังไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้ซื้อทรัพย์ให้เลื่อนนัดไปนัดไต่สวนคำร้องวันที่
๗ มีนาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา และมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑
แถลงภูมิลำเนาของผู้ซื้อทรัพย์และวางเงินค่าส่งหมายนัดสำเนาคำร้องแก่ผู้ซื้อทรัพย์ภายใน
๑๕ วันมิฉะนั้นถือว่าทิ้งคำร้อง
วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๙ ส. รับมอบฉันทะจากจำเลยที่
๑ ยื่นคำร้องขอคัดถ่ายสำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของผู้ซื้อทรัพย์เพื่อแถลงต่อศาล
และวางเงินค่าส่งคำคู่ความ ๓๕๐ บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้รับมอบฉันทะจำเลยที่ ๑
ไม่มีอำนาจเรียงคำร้องให้ยกคำร้อง
วันนัดไต่สวนศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่
๑ ไม่แถลงภูมิลำเนาของผู้ซื้อทรัพย์ภายในกำหนดถือว่าทิ้งคำร้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นคำร้องไว้ไต่สวนโดยมิได้สั่งให้จำเลยที่
๑ ส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้ซื้อทรัพย์ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ แถลงภูมิลำเนาของผู้ซื้อทรัพย์และส่งสำเนาคำร้องจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ
ทั้ง ส. เป็นผู้รับมอบฉันทะของจำเลยที่ ๑ มีอำนาจแถลงภูมิลำเนาของผู้ซื้อทรัพย์ และวางเงินค่าส่งสำเนาคำร้อง
ศาลฎีกาพิพากษายืน
หลักกฎหมาย
ผู้รับมอบฉันทะมิใช่คู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๑(๑๑)
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๑ ในประมวลกฎหมายนี้
ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
(๑๑) “คู่ความ” หมายความว่า
บุคคลผู้ยื่นคำฟ้อง หรือถูกฟ้องต่อศาล
และเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้น
ๆ ตามกฎหมาย หรือในฐานะทนายความ
มาตรา ๖๔ เว้นแต่ศาลจะได้สั่งเป็นอย่างอื่น
เมื่อคดีมีเหตุผลพิเศษอันเกี่ยวกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
หรือทนายความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ
คู่ความหรือทนายความอาจตั้งแต่งให้บุคคลใดทำการแทนได้
โดยยื่นใบมอบฉันทะต่อศาลทุกครั้ง เพื่อกระทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือกำหนดวันนั่งพิจารณาหรือวันสืบพยาน
หรือวันฟังคำสั่ง คำบังคับ หรือคำชี้ขาดใด ๆ ของศาล มาฟังคำสั่ง คำบังคับ
หรือคำชี้ขาดใด ๆ ของศาลหรือสลักหลังรับรู้ซึ่งข้อความนั้น ๆ รับสำเนาแห่งคำให้การ
คำร้องหรือเอกสารอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๑ และ ๗๒ และแสดงการรับรู้สิ่งเหล่านั้น
มาตรา ๑๗๔ ในกรณีต่อไปนี้ให้ถือว่าโจทก์ได้ทิ้งฟ้อง
คือ
(๑) ภายหลังที่ได้เสนอคำฟ้องแล้ว
โจทก์เพิกเฉยไม่ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายเรียกให้แก้คดีแก่จำเลย
และไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุแห่งการเพิกเฉยเช่นว่านั้นภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำฟ้อง
(๒)
โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยได้ส่งคำสั่งให้แก่โจทก์โดยชอบแล้ว
พระราชบัญญัติทนายความ
พ.ศ.๒๕๒๘
มาตรา ๓๓ ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต
หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความหรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาล
หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง
หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ
องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ
ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น
#คำพิพากษาฎีกาที่
5358/2560
0 Comments
แสดงความคิดเห็น