แม้จำเลยที่ ๓ ยื่นคำคัดค้านว่าผู้ร้องไม่มีต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วง
ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจและผู้มอบอำนาจช่วงเป็นลายมือชื่อปลอม อันเป็นการคัดค้านการนำเอกสารนั้นมาสืบโดยเหตุผลว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๑๒๕ วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่จำเลยที่ ๓ ยอมรับในอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องนำต้นฉบับมาแสดงต่อศาลในวันนัดไต่สวนคำร้องแล้วรับกลับคืนไป
โดยจำเลยที่ ๓ มิได้คัดค้านว่าสำเนาเอกสารไม่ถูกต้องตรงกับต้นฉบับและมิได้คัดค้านการที่ศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับ
ประกอบกับผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เป็นจำนวนมาก ผู้ร้องย่อมจำเป็นต้องใช้ต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจและสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วง
ไปใช้เป็นพยานหลักฐาน ถือได้ว่าต้นฉบับเอกสารผู้ร้องต้องใช้เป็นประจำ การที่ศาลชั้นต้นรับสำเนาเอกสารไว้แทนต้นฉบับเท่ากับศาลชั้นต้นอนุญาตให้รับคืนต้นฉบับเอกสารและให้ผู้ร้องส่งสำเนาเอกสารหมายไว้แทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๑๒๗ ทวิ ศาลชั้นต้นย่อมรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานหลักฐานได้ว่าผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์
จำเลยที่สามเคยยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์
และศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ ว่า พยานหลักฐานของจำเลยที่ ๓
ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของผู้ร้องข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามคำ
พิพากษาที่มีต่อจำเลยทั้งสามให้แก่ผู้ร้อง การโอนสิทธิเรียกร้องจึงสมบูรณ์แล้ว การยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิของผู้ร้องทั้งสองครั้งก่อนเป็นเรื่องที่ผู้ร้องยังไม่ได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้
เมื่อผู้ร้องปฏิบัติตามขั้นตอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๖ วรรคหนึ่ง เรียบร้อยแล้ว
ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ได้ การยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิในครั้งนี้เป็นกรณีที่ศาลยังมิได้มีคำวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีโดยตรงว่าผู้ร้องสามารถเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ได้หรือไม่
จึงไม่เป็นการร้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ข้อเท็จจริง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินจดทะเบียนไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อประกอบธุรกิจเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์
พ.ศ.๒๕๔๑ ผู้ร้องมอบอำนาจและมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นดำเนินคดีแทน เมื่อวันที่ ๒๕
ตุลาคม ๒๕๔๙
โจทก์ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสามรวมทั้งหลักประกันให้แก่ผู้ร้อง
และผู้ร้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยทั้งสามโดยชอบแล้ว
ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์
จำเลยที่
๓ ยื่นคำคัดค้านว่าลายมือผู้มอบอำนาจและมอบอำนาจช่วงของผู้ร้องเป็นลายมือชื่อปลอมโจทย์โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อเจ้าหน้าที่ศาลพิเศษบริษัทหลักทรัพย์ไทยจำกัดเป็นแล้วต่อมาโจทก์ได้โอนสิทธิเรียกร้องลายเดียวกันนี้ให้แก่ผู้ร้องอีก
การโอนสิทธิระหว่างโจทก์กับผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายสัญญา สัญญาโอนสิทธิเรียกว่าระหว่างโจทก์กับผู้ร้องเป็นเอกสารปลอม
ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอสวมสิทธิแทนโจทก์ แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องเนื่องจากผู้ร้องยังไม่ได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสาม
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเข้ามาอีกเป็นการร้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์
ตามพระราชกำหนดบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๗
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ ๓ ฎีกา
พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์
พ.ศ. ๒๕๔๑
มาตรา ๗ ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์
ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล
ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว
และอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดงคัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้แล้ว
ถามค้านพยานที่สืบมาแล้ว และคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้วได้
และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว
ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๑๒๕ คู่ความฝ่ายที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานยันตนอาจคัดค้านการนำเอกสารนั้นมาสืบโดยเหตุที่ว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน
หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ โดยคัดค้านต่อศาลก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ
มาตรา ๑๒๗ ทวิ ต้นฉบับพยานเอกสารหรือพยานวัตถุอันสำคัญที่คู่ความได้ยื่นต่อศาลหรือที่บุคคลภายนอกได้ยื่นต่อศาล
หากผู้ที่ยื่นต้องใช้เป็นประจำหรือตามความจำเป็นหรือมีความสำคัญในการเก็บรักษา
ศาลจะอนุญาตให้ผู้ที่ยื่นรับคืนไป โดยให้คู่ความตรวจดู
และให้ผู้ที่ยื่นส่งสำเนาหรือภาพถ่ายไว้แทน
หรือจะมีคำสั่งอย่างใดตามที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา ๑๔๔ เมื่อศาลใดมีคำพิพากษา
หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น
มาตรา ๑๔๘ คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก
ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน
#คำพิพากษาฎีกาที่
6555/2560
0 Comments
แสดงความคิดเห็น