ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๕ ให้ความหมายของสัญญาจ้างไว้ในทำนองเดียวกันว่า สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้  และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ บัญญัติว่า  “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งใช้ว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ท่านว่า นายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้”  เมื่อพิเคราะห์บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแล้ว ลูกจ้าง คือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างโดยอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง อันหมายความว่า ลูกจ้างต้องทำงานตามที่นายจ้างสั่งและต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืนนายจ้างสามารถลงโทษได้
                เงินที่นายเงินที่จำเลยโอนเข้าบัญชีโจทก์ในแต่ละครั้งมีลักษณะแตกต่างจากการจ่ายเงินเดือนแสดงว่าไม่ใช่เงินเดือน และโจทก์ไม่ได้ตกลงอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของจำเลยหรือผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลย เช่นนี้ โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างจากจำเลย

ข้อเท็จจริง
                โจทก์ประกอบธุรกิจขายตรงเกี่ยวกับเครื่องสำอาง อาหารเสริม ธุรกิจสอนภาษาอังกฤษภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศสและทางโครงการดรุณเศรษฐี โครงการเกษียณก่อนเกษียณ จำเลยจ่ายเงินค่าตอบแทนเข้าบัญชีธนาคารโจทก์  ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สมุดเงินฝากของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ครั้งละ ๓๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่ได้โอนเข้าเป็นประจำทุกเดือนและไม่สม่ำเสมอ ซึ่งแตกต่างจากการจ่ายเงินเดือน แสดงว่าไม่ใช่เงินเดือน พยานหลักฐานของโจทก์ก็ไม่มีน้ำหนักรับฟัง โจทย์ไม่ได้ตกอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของจำเลยหรือผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลย  และไม่ปรากฏเวลาเข้าออกงานที่แน่นอนดังเช่นลูกจ้างทั่วไป ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากจำเลย

สาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน
                .สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญา ๒ ฝ่าย คือนายจ้างฝ่ายหนึ่ง และลูกจ้างฝ่ายหนึ่ง
                . สัญญาจ้างแรงงานมีวัตถุประสงค์ที่ให้ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้มีการทำงาน สิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จอย่างเช่นสัญญาจ้างทำของ
                . สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาที่นายจ้างตกลงจะให้สินจ้างแต่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

ลักษณะของสัญญาจ้างแรงงาน
                ๑.สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาที่มีลักษณะเป็นการเฉพาะตัวลูกจ้าง เพราะเวลาที่นายจ้างจะเลือกลูกจ้างคนใดเข้าทำงาน นายจ้างก็จะต้องพิจารณาถึงความรู้ความสามารถ ความตั้งใจความขยันขันแข็ง ความอดทน และความไว้วางใจ ส่วนลูกจ้างจะทำงานให้แก่ใคร ก็พิจารณาดูว่านายจ้างเป็นใคร นิสัยใจคอเป็นเช่นใด มีฐานะมั่นคงที่จะจ่ายค่าจ้าง และให้สวัสดิการที่ดีแก่ลูกจ้างได้หรือไม่
                ๒.สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาที่นายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำการไปในทางการที่จ้าง
                ๓.สัญญาจ้างแรงงาน มีลักษณะที่นายจ้างมีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาลูกจ้าง นายจ้างมีอำนาจสั่งให้ลูกจ้างทำงานตามวิธีที่ตนต้องการได้ ลูกจ้างต้องทำงานอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล เชื่อฟังคำสั่งของนายจ้างตลอดเวลา โดยอำนาจในการบังคับบัญชาของนายจ้าง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงอย่างชัดแจ้ง แต่ถ้าพิจารณาจากบทบัญญัติมาตรา ๕๘๓ ที่บัญญัติว่า “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งที่ว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในระหว่างการทำงานของลูกจ้างนั้น นายจ้างสามารถที่จะออกคำสั่งให้ลูกจ้างปฏิบัติตามก็ได้ คำสั่งดังกล่าวจะเป็นคำสั่งด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร  จะเป็นการสั่งให้ทำเป็นเรื่องๆ ไป หรือเป็นครั้งคราวไป หรือจะเป็นคำสั่งที่อยู่ในรูปของระเบียบข้อบังคับของการทำงานก็ได้

                ตามกฎหมายอังกฤษ Lord Thankerton  อธิบายถึงปัจจัย ๔ ประการ ที่บ่งชี้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างแรงงานในคดี Short V. Henderson, Ltd
                ๑. นายจ้างมีอำนาจในการเลือกลูกจ้าง
                ๒. มีการจ่ายสินจ้างหรือค่าตอบแทน
                ๓. นายจ้างมีอำนาจในการควบคุมวิธีการในการทำงาน
                ๔.นายจ้างมีสิทธิให้ลูกจ้างหยุดทำงานชั่วคราวหรือไล่ออก
( อ้างอิง ไผทชิต เอกจริยกร. คำอธิบายจ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน พิมพ์ครั้งที่ ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด,๒๕๖๐.)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                มาตรา ๕๗๕ อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้
                มาตรา ๕๘๓  ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑
                มาตรา ๕  ในพระราชบัญญัตินี้
                นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึง
                 (๑) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง
                 (๒) ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย
                ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร
                ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้