โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนจำเลยที่
๑ ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. โดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ ๑ กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อทายาท ฝ่าฝืนมติของที่ประชุมทายาทโดยจะไม่ต่อสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ดังกล่าวให้กับบริษัท
ซ. (จำเลยที่ ๒ ในคดีนี้) แต่ให้นำมาประมูลขายกันระหว่างทายาท ทั้งการเช่าดังกล่าวมีอัตราค่าเช่ารถลงจากสัญญาเช่าฉบับเดิม
ทำให้ทายาทได้รับความเสียหาย เป็นคดีแพ่งของศาลจังหวัดสีคิ้ว คำร้องขอของโจทก์ในคดีดังกล่าวเป็นการเสนอข้อหาต่อศาล
จึงถือได้ว่าเป็นคำฟ้อง จำเลยที่ ๑
ยื่นคำคัดค้านคำร้องขอของโจทก์อันเป็นการยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้องคำคัดค้านของจำเลยที่
๑ เป็นคำให้การ ในคดีดังกล่าวมีประเด็นข้อพิพาทว่ามีเหตุที่จะถอนจำเลยที่ ๑
ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของเสือหรือไม่ แต่การที่ศาลจังหวัดสีคิ้วจะมีคำสั่งเพิกถอนจำเลยที่
๑ ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่นั้น ศาลในคดีดังกล่าวจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า
ทายาทส่วนใหญ่ประสงค์จะให้ต่อสัญญาเช่าและต้องการให้มีการประมูลขายที่ดินในหมู่ทายาทหรือไม่
สัญญาเช่าดังกล่าวมีอัตราค่าเช่าลดลง ทำให้ทายาทของ ส. ได้รับความเสียหายหรือไม่ แม้โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการเช่าระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ โดยอ้างว่าจำเลยที่ ๑
นำที่ดินให้จำเลยที่ ๒ เช่าโดยไม่มีอำนาจกับเรียกค่าเสียหาย แต่ศาลก็จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า
ทายาทของ ส. มีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์มรดกดังกล่าวเป็นอย่างไร และทายาทได้รับความเสียหายหรือไม่
ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเช่นเดียวกับคดีแพ่งของศาลจังหวัดสีคิ้ว เมื่อคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นและมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในเรื่องเดียวกันกับคดีนี้
ฟ้องคดีนี้ของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑
จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าวต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๗๓
วรรคสอง (๑)
เพิ่มเติม
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา
๑๗๓ วรรคสอง มุ่งหมายว่าคดีเรื่องเดียวกันควรมีการฟ้องร้องว่ากล่าวกันเสียให้เสร็จสิ้นเป็นคราวเดียวกัน
ส่วนคดีใดจะเป็นคดีเดียวกันหรือไม่อย่างไร ต้องพิจารณาจากคำฟ้องในคดีนั้นๆว่า เป็นคดีที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอย่างเดียวกันหรือไม่(ฎีกาที่
๑๘๕๐/๒๕๖๐)
- หลักเกณฑ์ฟ้องซ้อน
๑. โจทก์คดีก่อนเป็นคนเดียวกับโจทก์คดีหลัง และทั้งสองคดีมีจำเลยคนเดียวกัน
๒ . คดีก่อนและคดีหลังเป็นเรื่องเดียวกัน
๓. ขณะที่ยื่นฟ้องคดีหลังคดีก่อนอยู่ในระหว่างพิจารณา
- คดีทั้งสองสำนวนที่มีโจทก์หรือจำเลยหลายคนอาจเป็นฟ้องซ้อนสำหรับโจทก์หรือจำเลยบางคนก็ได้(
ฎีกาที่ ๑๓๗๑/๒๕๒๐, ๑๗๙๙/๒๕๓๐)
- การที่จะพิจารณาว่าคดีทั้งสองเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่
อาจแยกได้ดังนี้
(๑) สภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาต่างกันหรือเป็นเรื่องเดียวกัน
เมื่อสภาพแห่งข้อหาเป็นอย่างเดียวกันแล้ว พิจารณาต่อไปว่ามีข้ออ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ด้วย
หากข้ออ้างต่างกันย่อมไม่เป็นฟ้องซ้อน
(๒) คดีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์เฉพาะสิ่ง
ถ้าทรัพย์พิพาทเป็นอันเดียวกัน อาจถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันได้ แต่ก็ไม่เสมอไป ต้องพิจารณาว่าเป็นข้อหาและข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาด้วย
(๓) สภาพแห่งข้อหา และข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักข้อหาเป็นที่ตั้งแห่งประเด็นในคดี
ทั้งคำให้การของจำเลยก็ก่อให้เกิดประเด็นได้ ถ้าประเด็นแห่งคดีในส่วนเนื้อหาของทั้ง
๒ คดี ซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยอย่างเดียวกัน ย่อมถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ฉะนั้นจะทำให้ประเด็นนั้นได้รับการวินิจฉัย
๒ ครั้ง กรณีนี้ต้องนำกฎหมายสารบัญญัติมาพิจารณาประกอบด้วย
(๔) ถ้าเหตุที่โจทก์นำมาเป็นข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องคดีหลังเป็นเหตุที่เกิดขึ้นต่างวาระกัน
แม้จะเป็นเหตุที่เหมือนกัน และมีคำขออย่างเดียวกัน ก็ไม่เป็นฟ้องซ้อน (๕) เหตุที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังที่โจทย์ยื่นฟ้องคดีแรก
ย่อมไม่ใช่เรื่องเดียวกัน นำมาฟ้องได้ ไม่เป็นฟ้องซ้อน
อ้างอิง
ไพโรจน์
วายุภาพ. คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค ๒ ลักษณะ ๑
วิธีพิจารณาสามัญในศาลชั้นต้น พิมพ์ครั้งที่ ๖ แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์กรุงสยามพับลิชชิ่งจำกัด,
๒๕๕๖.
0 Comments
แสดงความคิดเห็น