ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
๑๕๑
ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการทรัพย์ใดๆใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ
องค์ประกอบภายใน คือเจตนาทุจริต หมายถึง เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
โครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นนโยบายของ
ป. ผู้อำนวยการโรงเรียน โดยตั้งจำเลยทั้งสามเป็นกรรมการผู้ดำเนินการและจำเลยทั้งสามไม่เคยทำมาก่อน
จึงได้ไปสอบถาม ช. ผู้ทำหน้าที่การเงิน ช. ไม่ได้แนะนำว่าให้ยืมเงินงบประมาณสำรองเพื่อใช้ในโครงการก่อน เมื่อเงินงบประมาณส่งมา
ช. ก็ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสามทราบจนสิ้นกำหนดระยะเวลาตามโครงการและโรงเรียนปิดเทอม
จึงแจ้งให้จำเลยทั้งสามมารับเงิน ซึ่งที่ถูกแล้วต้องไม่จ่ายเงิน เนื่องจากไม่อาจจะไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ได้
ส่วนเงินที่จ่ายได้นำไปเข้าบัญชีมีชื่อจำเลยที่ ๑ หรือ ป. จำนวน
๕๐,๐๐๐ บาท และ ป. ให้เก็บเป็นเงินสดอีกจำนวน
๒๒,๐๐๐ บาท ซึ่งบัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีเพื่อสวัสดิการของโรงเรียนผู้อำนวยการมีอำนาจสั่งจ่ายและนำไปใช้โดยจำเลยทั้งสามไม่ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว
เมื่อมีการตรวจสอบผู้อำนวยการได้สั่งให้นำเงินจำนวน ๗๒,๐๐๐ บาท
จากบัญชีดังกล่าวมาเข้าบัญชีของโรงเรียน เห็นได้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของผู้อำนวยการโรงเรียน
จำเลยทั้งสามเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชารับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาทุจริตจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๕๑
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
๑๕๗ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้นเมื่อระยะเวลาตามโครงการสิ้นสุดลงแล้วจำเลยทั้งสามไปลงลายมือชื่อขอรับเงินทั้งที่ยังไม่ได้ดำเนินการตามโครงการจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โรงเรียนแก่รัฐอันเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาเห็นว่า
การกระทำของจำเลยทั้งสามผิดขั้นตอน ไม่ได้มีเจตนาทุจริต
ทั้งไม่เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ เห็นว่า
เมื่อจำเลยทั้งสามรับเงินมาแล้ว ไม่ได้นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์
แต่กลับนำเงินไปเข้าบัญชีที่ไม่ใช่บัญชีของโรงเรียน
ซึ่งมีวัตถุประสงค์การใช้ในเรื่องของสวัสดิการมีลักษณะเป็นเรื่องส่วนตัวมิได้เกี่ยวกับงานราชการ
พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
แม้ภายหลังจะได้ความว่ามีการนำเงินที่เบิกมาไปคืน
เนื่องจากมีการตรวจสอบการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการปฏิบัติที่ผิดระเบียบและผิดต่อกฎหมาย
จึงเป็นความผิดตามฟ้อง
ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า
จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ให้รอกำหนดโทษไว้เป็นเวลา ๓
ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ (ที่แก้ไขใหม่) ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
เพิ่มเติม
คำว่า “โดยมิชอบ" หมายถึงโดยมิชอบด้วยหน้าที่ซึ่งเจ้าพนักงานมีอยู่ตามกฎหมาย
กฎ ข้อบังคับ คำสั่งของคณะรัฐมนตรี คำสั่งของผู้บังคับบัญชา หรือ ระเบียบแบบแผนของทางราชการ
ซึ่งออกได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
อ้างอิง
หยุดแสงอุทัย. กฎหมายอาญา ภาค ๒ – ๓ ฉบับพิมพ์ครั้งที่
๑๐. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
๒๕๔๘.
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๕๑ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ
ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ
เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี
หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา ๑๕๗ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน
ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี
หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
0 Comments
แสดงความคิดเห็น