ผู้ร้องในฐานะพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายยื่นคำร้องขอรับเงินที่จำเลยวางต่อศาลชั้นต้นทั้งสองครั้งเพื่อบรรเทาความเสียหายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลย มิได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๐ หรือยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๔/๑ ทั้งเงินที่จำเลยวางต่อศาลชั้นต้นก็มิใช่มรดกของผู้ตาย กรณีจึงไม่ต้องพิจารณาว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายซึ่งเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๕ หรือมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุผู้ตายได้รับความอันตรายแก่ชีวิตอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๔/๑ หรือผู้ร้องเป็นทายาทของผู้ตายหรือไม่ เมื่อผู้ร้องเป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับเงินที่จำเลยวางต่อศาลชั้นต้น
                ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยขอให้การรับสารภาพ โดยจำเลยได้วางเงินต่อศาลเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้ตายเพื่อบรรเทาความเสียหายของผู้ตาย ทั้งจำเลยและญาติของจำเลยได้ไปงานศพของผู้ตาย ช่วยเหลือเงินในงานศพของผู้ชาย ซื้อพวงหรีดให้ในงานศพของผู้ตาย ขอให้ศาลได้โปรดลงโทษจำเลยสถานเบา และระหว่างฎีกาจำเลยยื่นคำร้องว่าจำเลยมีความประสงค์ขอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ญาติผู้ตายเพื่อบรรเทาความเสียหายให้แก่ญาติผู้ตายเป็นเงินจำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยได้วางเงินจำนวนดังกล่าวต่อศาลในวันนี้แสดงให้เห็นว่าจำเลยวางเงินจำนวนดังกล่าวโดยมีเจตนาที่จะให้แก่ผู้ตายหรือญาติของผู้ตายเพื่อให้ศาลชั้นต้นและศาลฎีกาใช้ประกอบคุณพินิจในการลงโทษจำเลย ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลฎีกาก็นำเหตุที่จำเลยวางเงินต่อศาลชั้นต้นในระหว่างพิจารณาและระหว่างฎีกาดังกล่าวมาใช้ประกอบดุลพินิจรอหรือไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยแล้ว เมื่อคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกา โดยมีการดำเนินการตามคำร้องของจำเลยดังกล่าวแล้ว และผู้ร้องประสงค์ที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าว ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะรับเงินจำนวนนั้นไปจากศาลชั้นต้นได้

ข้อเท็จจริง
                ผู้ตายเป็นคนโสด บิดาของผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้ว ส่วนมารดาของผู้ตายหายสาบสูญไปกว่า ๔๐ ปี แล้ว ผู้ตายมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๓ คน คือ ผู้ร้อง ผู้ตาย และ อ. ผู้ร้องขอรับเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ที่จำเลยวางต่อศาล

เพิ่มเติม
                ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๐๐ “...กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”
                กองมรดก ได้แก่ ๑.ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ๒.สิทธิของผู้ตาย ๓.หน้าที่ของผู้ตาย ๔.ความรับผิดของผู้ตาย
                แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่า ไม่ถือว่าเป็นมรดก เช่น เงินบำนาญตกทอด(ฎีกาที่ ๔/๒๕๐๕), เงินบำเหน็จตกทอด(ฎีกาที่ ๑๐๕๖/๒๕๒๕), เงินช่วยพิเศษกรณีข้าราชการตาย(ฎีกาที่ ๑๙๕๓/๒๕๑๕), เงินสังขารานุเคราะห์(ฎีกาที่ ๒๔๐๑/๒๕๑๕(ประชุมใหญ่)), เงินช่วยเพื่อนครูหรือ ช.พ.ค.(ฎีกาที่ ๑๓๒/๒๕๐๗), คำมั่นจะให้เช่า(ฎีกาที่ ๑๖๐๒/๒๕๔๘), เงินประกันชีวิต(ฎีกาที่ ๔๗๑๔/๒๕๔๒, ๘๒๑/๒๕๕๔)

อ้างอิง
กีรติ กาญจนรินทร์. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๖ มรดก. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, ๒๕๖๐.