ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ มีคำพิพากษาคดีในส่วนอาญาว่าจำเลยกระทำความผิดโดยปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอม แล้วโจทก์ทั้งสองมาฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้เงินปลอมอันเป็นสัญญากู้เงินฉบับเดียวกันขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามผลการกระทำความผิดอาญาดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ยอมต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๔๖ ว่า จำเลยได้ปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่ง แม้คดีแพ่งของศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยไม่ได้ปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้เงินปลอมและคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งแตกต่างกับคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ ก็ถือว่าเป็นกรณีที่มีคำพิพากษาอันถึงอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกันต่างกล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ จำต้องถือตามผลคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่าตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๑๔๖ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอมดังกล่าวฟ้องโจทก์ทั้งสองตามคดีแพ่งของศาลชั้นต้น
                จำเลยปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปฟ้องโจทก์ทั้งสองต่อศาลชั้นต้น จนศาลชั้นต้นให้จำเลยชนะคดีแล้วจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของโจทก์ที่ ๑ ยึดทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองขายทอดตลาด และจำเลยยังนำผลคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวไปฟ้องโจทก์ที่ ๒ ต่อศาลล้มละลายกลาง เป็นกรณีที่จำเลยจงใจก่อให้เกิดความเสียหายในทางทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดแก่โจทก์ทั้งสองจึงมีการกระทำละเมิด ซึ่งจำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองด้วยการคืนทรัพย์สินที่โจทก์ทั้งสองต้องสูญเสียไปหรือใช้ราคาทรัพย์นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๘ วรรคสอง

เพิ่มเติม
                คำพิพากษาขัดกัน
                ตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๑๔๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกัน ต่างกล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นขัดกัน ให้ถือตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่สูงกว่า”   
                คำพิพากษาของสองศาลซึ่งต่างชั้นกันต้องถึงที่สุดแล้ว หากคำพิพากษาของสองศาลนั้นศาลใดศาลหนึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา กรณีจึงไม่ใช่กรณีที่มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกันขัดกัน(ฎีกาที่ ๘๓๘๓/๒๕๕๙) คำพิพากษาขัดกันนั้นจะต้องเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นในเนื้อหาแห่งคดีแล้ว(ฎีกาที่ ๗๙๗๗/๒๕๕๙)
                ศาลที่สูงกว่ามีอำนาจวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้(ฎีกาที่ ๒๘๕๗-๒๘๕๘/๒๕๕๙)
                คำพิพากษาในส่วนคำฟ้องโจทก์กับฟ้องแย้งจำเลยขัดกัน เป็นกรณีที่คำพิพากษาของสองศาลขัดกัน(ฎีกาที่ ๑๗๓๔/๒๕๓๙)
                ฎีกาที่ ๑๗๓๔/๒๕๓๙ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าค้างชำระจากจำเลย จำเลยให้การว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและฟ้องแย้งเรียกค่าเช่าล่วงหน้าคืน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้าง เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าตามฟ้องและไม่มีสิทธิรับเงินค่าเช่าล่วงหน้าของจำเลย เงินค่าเช่าล่วงหน้าดังกล่าวจำเลยได้ฟ้องแย้งเรียกคืนจากโจทก์และได้ฎีกาขึ้นมา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาในส่วนฟ้องแย้งจึงเป็นกรณีที่คำพิพากษาของสองศาลขัดกัน ต้องถือผลตามคำพิพากษาของศาลฎีกาโจทก์จึงต้องคืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าให้แก่จำเลย ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์คืนเงินค่าเช่าดังกล่าวแก่จำเลยได้