แม้พันตำรวจตรี ป. และร้อยตำรวจโท
ศ. พยานโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรีก็ตาม แต่ตาม
ป.วิ.อ. มาตรา ๒(๑๖) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓ พยานโจทก์ทั้งสองมีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ทำการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายได้ และยังมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา
๑๗ ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓ เจ้าพนักงานงานตำรวจมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาได้
ไม่มีบทกฎหมายใดจำกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เฉพาะในเขตท้องที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นประจำการอยู่เท่านั้น
เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวจึงมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาและจับกุมผู้กระทำผิดได้ทั่วราชอาณาจักร
เพิ่มเติม
คดีนี้จำเลยฎีกาว่า
พยานโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรีแต่มาจับกุมจำเลยในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารเป็นการปฏิบัติหน้าที่นอกเขตรับผิดชอบเป็นพฤติการณ์จับกุมที่มีพิรุธ...
เจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ทำการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายได้ และยังมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้
ซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมาย(ฎีกาที่ ๑๓๕๓๕/๒๕๕๓) แม้จะมีหน้าที่ในการบรรเทาสาธารณภัยก็ไม่ทำให้อำนาจตามกฎหมายสูญสิ้นไป(ฎีกาที่
๔๗๑๑/๒๕๔๒) อีกทั้งไม่มีบทกฎหมายใดจำกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เฉพาะ
ในเขตท้องที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นประจำการอยู่เท่านั้น(ฎีกาที่ ๑๒๕๙/๒๕๔๒)
ดังนั้นเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนแล้วพบการกระทำความผิดในลักษณะซึ่งหน้า
เจ้าพนักงานตำรวจก็มีสิทธิจับผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าได้แม้อยู่นอกเขตพื้นที่ของตน(ฎีกาที่
๖๘๘๐/๒๕๔๑)
พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน(ฎีกาที่
๓๐๐/๒๕๒๗) เช่น นายอำเภอ(ฎีกาที่
๓๐๐/๒๕๒๗) เจ้าพนักงานศุลกากร(ฎีกาที่ ๓๕๖๐/๒๕๒๕) กำนัน ปลัดอำเภอเป็นพนักงานฝ่ายปกครอง
ส่วนเสมียนปกครองไม่ใช่พนักงานฝ่ายปกครอง(ฎีกาที่ ๒๖๓๑-๒๖๓๒/๒๕๑๕)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ไม่ใช่พนักงานสอบสวนและพนักฝ่ายปกครองหรือตำรวจ(ฎีกาที่ ๑๒๒๖/๒๕๐๓)
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๒ ในประมวลกฎหมายนี้
(๑๖) “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ”
หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ให้รวมทั้งพัศดี เจ้าพนักงานกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า
พนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าพนักงานอื่น ๆ
ในเมื่อทำการอันเกี่ยวกับการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย
ซึ่งตนมีหน้าที่ต้องจับกุมหรือปราบปราม
มาตรา ๑๗ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้
0 Comments
แสดงความคิดเห็น