โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่โจทก์หรือเจ้าพนักงานที่ดิน
หรือให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว โดยบรรยายฟ้องว่า
เดิมโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยกับพวกขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ มีสิทธิครอบครองที่ดินตามฟ้อง
ต่อมาโจทก์ทั้งสองขอให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้โจทก์ทั้งสองมีชื่อทางทะเบียนในที่ดินดังกล่าว
เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากไม่มีต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์
โจทก์ทั้งสองบอกกล่าวให้จำเลยนำต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปดำเนินการจำเลยเพิกเฉย
เจ้าพนักงานที่ดินจึงมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยนำต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปดำเนินการ
แต่จำเลยยังคงเพิกเฉย เจ้าพนักงานที่ดินจึงประกาศออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์
จำเลยทราบประกาศแล้วไม่คัดค้านภายในกำหนด ต่อมาจำเลยยื่นคำคัดค้านการออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เจ้าพนักงานที่ดินจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่าเนื่องจากจำเลยยื่นคำคัดค้านจึงไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้นั้น
คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นคำฟ้องที่โต้แย้งและเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษา
ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๓๐๒ วรรคหนึ่ง
ประกอบมาตรา ๗(๒)
ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์ทั้งสองจะต้องขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีเดิม ไม่ใช่ว่าเมื่อมีปัญหาเกี่ยวด้วยการบังคับคดีก็ฟ้องคดีใหม่ต่อไปจะทำให้ไม่รู้จักจบสิ้น
ที่โจทก์ทั้งสองนำเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาเดิมมาฟ้องเป็นคดีนี้โดยอ้างว่าเป็นการถูกโต้แย้งสิทธิ
จึงไม่ถูกต้อง โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
เพิ่มเติม
มาตรา ๓๐๒ ปัจจุบันตรงกับมาตรา
๒๗๑ ซึ่งมาตรา ๓๐๒ วรรคหนึ่ง กับมาตรา ๒๗๑ วรรคหนึ่ง ยังคงหลักการเดิมเกี่ยวกับศาลที่มีอำนาจบังคับคดี
คือ ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี
โดยอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี มี ๒ ประการ คือ
๑.อำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดีตามมาตรา
๒๗๖
๒.อำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือทำคำสั่งในเรื่องใด
ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
คำร้องที่เสนอในคดีเดิม(ม.๗(๒))
ฎีกาที่ ๑๑๓๙/๒๕๒๙ ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาคดีระหว่างโจทก์จำเลยคดีนี้และคดีถึงที่สุดแล้วว่าให้จำเลยรื้อสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาทและห้ามจำเลยกับบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
คำพิพากษาจึงมีผลบังคับถึงบริวารของจำเลยด้วย เมื่อศาลชั้นต้นได้ออกคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาก็ได้ระบุไว้ในคำบังคับด้วยว่าห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาท
เมื่อผู้ร้องทั้งสี่ยื่นคำร้องขออ้างว่าตนมิได้เป็นบริวารของจำเลยและสิ่งปลูกสร้างกับที่พิพาทนี้เป็นของผู้ร้องทั้งสี่มิใช่ของโจทก์จึงเป็นการตั้งข้อพิพาทกับโจทก์ในชั้นบังคับคดี
กรณีจึงเป็นเรื่องผู้ร้องทั้งสี่มีสิทธิร้องขอต่อศาลได้โดยอาศัย ป.วิ.พ.มาตรา ๗(๒) ชอบที่จะรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา
ฎีกาที่
๑๒๑๙/๒๕๒๙ (ประชุมใหญ่) คำร้องซึ่งอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลชั้นต้นที่ได้รับแต่งตั้งให้บังคับคดีแทนดำเนินการบังคับคดีโดยไม่ชอบนั้นผู้ร้องมีสิทธิยื่นต่อศาลที่ชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นได้
ฎีกาที่
๖๑๒๓/๒๕๓๘ คดีเดิมจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องบังคับจำนองเอาแก่โจทก์คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์คดีนี้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแต่เกิดคดีนี้ไม่ชำระ
จำเลยคดีนี้จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินจำนองออกขายทอดตลาด
โจทก์คดีนี้ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นงดการบังคับคดีไว้ก่อนโดยอ้างว่าได้ชำระหนี้ให้จำเลยคดีนี้แล้วและได้ยื่นฟ้องเป็นคดีนี้อ้างว่าได้ชำระหนี้ให้จำเลยคดีนี้แล้วขอให้บังคับให้ไถ่ถอนจำนอง
ดังนี้ คำฟ้องคดีนี้เป็นข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับการบังคับคดีในคดีเดิมจึงเป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวกันในคดีเดิมในชั้นบังคับคดีไม่ชอบที่จะมาฟ้องเป็นคดีใหม่
ฎีกาที่
๒๑๔๕/๒๕๔๒ โจทก์ฟ้องคดีนี้ว่าคดีก่อนศาลมิได้มีคำพิพากษาให้ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์และเจ้าพนักงานของจำเลยที่
๑ แบ่งแยกที่ดินออกเป็น ๒ โฉนด ทั้งที่ศาลมิได้พิพากษาให้แบ่งแยกตามรูปแผนที่ท้ายฟ้อง
ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นคำฟ้องที่โต้แย้งเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาว่าไม่ถูกต้อง
ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี มิใช่ฟ้องเป็นคดีใหม่
ฎีกาที่
๒๘๔๒/๒๕๔๙ คำร้องเฉลี่ยทรัพย์เป็นคำร้องที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดี
ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใดเกี่ยวด้วยการบังคับคดีคือสารที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นดังนั้นสารที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา
๒๙๐ วรรคหนึ่ง สำหรับคดีนี้จึงได้แก่ ศาลชั้นต้น ส่วนศาลจังหวัดปทุมธานีเป็นเพียงศาลที่บังคับคดีแทน
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
ฎีกาที่
๑๐๖๖๕/๒๕๕๐ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นหนี้จำเลยที่
๑ และให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดเงินของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นการเสนอคำร้องขอที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาซึ่งโจทก์จะต้องขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีเดิม
ไม่ใช่เสนอคำร้องเป็นคดีใหม่
ฎีกาที่
๙๓๖๒/๒๕๕๑ คำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดหรือคำร้องขัดทรัพย์เป็นคำฟ้องหรือคำร้องขอที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลดังนั้นการยื่นคำร้องขัดทรัพย์จึงต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาและตัดสินคดี
จะยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ดำเนินการบังคับคดีแทนศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ได้
ฎีกาที่
๔๖๗๖/๒๕๕๑ คำฟ้องของโจทก์อ้างว่าเดินโจทก์เป็นจำเลยที่
2 ผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 233 ทับ 2543
ของศาลชั้นต้น และได้ชำระหนี้บางส่วนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยไม่ยอมหักหนี้ในส่วนของโจทก์แต่กลับดำเนินการบังคับคดีโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของโจทก์ขายทอดตลาดเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
ส่วนคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ขอให้จำเลยรับว่าโจทก์ได้ชำระหนี้บางส่วนแต่จำเลยแล้วและให้จำเลยคิดยอดหนี้ที่ค้างชำระเพื่อโจทย์จะได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือต่อไปนั้นเห็นได้ว่าคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ล้วนแต่เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาซึ่งคำฟ้องคิดว่านี้จำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลเสียก่อนที่การบังคับคดีจะดำเนินไปโดยครบถ้วนและถูกต้องโจทก์ต้องไปว่ากล่าวกันในคดีเดิมมิใช่ฟ้องเป็นคดีใหม่
ฎีกาที่
๘๖๘๙/๒๕๕๘ ตามคำร้องของผู้ร้องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของผู้ร้องโดยไม่ชอบ
ผู้ร้องไม่ได้เป็นลูกหนี้โจทก์ ผู้ร้องและจำเลยที่ ๑ มีชื่อและชื่อสกุลซ้ำกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง
ป.วิ.พ.ภาค ๔ ลักษณะ ๒ ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และมีคำขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีเสียทั้งหมดตั้งแต่มีการยึดทรัพย์
หาใช่เป็นคำร้องขัดทรัพย์ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๒๘๘ ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ และตามคำร้องดังกล่าวเป็นคำร้องที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่ง
ตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๗(๒)
บัญญัติให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา ๓๐๒ เดิม
ฎีกาที่
๔๐๘๖/๒๕๕๙ คำฟ้องที่โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมแล้ว
โดยอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีในคดีเดิมตามมาตรา
๗ และ ๓๐๒ วรรคหนึ่ง(เดิม) มิใช่ฟ้องเป็นคดีใหม่
โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
อ้างอิง
สมชาย
จุลนิติ์. คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค ๔. กรุงเทพมหานคร: จัดพิมพ์โดยสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา,
๒๕๖๐.
สมชัย
ฑีฆาอุตมากร. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพมหานคร: จัดพิมพ์โดยสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา,
๒๕๖๑.
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๗ บทบัญญัติในมาตรา ๔ มาตรา
๔ ทวิ มาตรา ๔ ตรี มาตรา ๔ จัตวา มาตรา ๔ เบญจ มาตรา ๔ ฉ มาตรา ๕ มาตรา ๖ และมาตรา
๖/๑ ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติดังต่อไปนี้
(๒) คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้น
ให้เสนอต่อศาลที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๗๑
มาตรา ๒๗๑ วรรคหนึ่ง ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีซึ่งมีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดีตามมาตรา
๒๗๖ และมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือทำคำสั่งในเรื่องใด ๆ
อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น หรือตามที่มีกฎหมายบัญญัติ
0 Comments
แสดงความคิดเห็น