ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือผู้อื่นได้รับชำระหนี้ สำหรับหนี้ของจำเลยที่ ๒ ที่มีต่อธนาคาร อ. เกิดขึ้นก่อนหนี้ที่จำเลยทั้งสองมีต่อผู้เสียหายประมาณ ๕ ปี จึงไม่น่าจะเป็นหนี้ที่เกิดจากการสมยอมกัน การที่จำเลยที่ ๒ เป็นหนี้ธนาคาร อ. โดยเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกัน ธนาคารเจ้าหนี้ได้ขอให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ที่จำนอง จำเลยที่ ๒ จึงขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ ป. ในราคา ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาประเมินแล้วนำเงินนั้นชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ อันเป็นการชำระหนี้ที่จำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องปฏิบัติและเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๒ จำต้องกระทำเพื่อมิให้ถูกธนาคารเจ้าหนี้บังคับจำนองเอาแก่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ ๒ อันมีลักษณะเป็นการปลดเปลื้องภาระหนี้จำนองของตน แม้จะเป็นการขายภายหลังผู้เสียหายฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินแล้ว ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ โอนขายทรัพย์สินของตนไปโดยเจตนาที่จะไม่ให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้

เพิ่มเติม
                ในตำราของท่านอาจารย์สุปัน พูลพัฒน์ ได้ให้ความหมายของคำว่า “ได้ใช้” และคำว่า “จะใช้” ไว้ดังนี้
                คำว่า “ได้ใช้” หมายถึงได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ซึ่งได้แก่การยื่นฟ้องหรือขอบังคับคดีต่อศาลเพื่อให้ชำระหนี้
                คำว่า “จะใช้” หมายถึงจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้แต่ยังไม่ได้ฟ้องร้องต่อศาล เช่น มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้(ฎีกาที่ ๘๒๙/๒๔๘๓) เป็นต้น
                การย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่น ซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดีนั้น จะต้องกระทำไปโดยเจตนาเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ถ้าขาดเจตนาในข้อนี้เสียการกระทำก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
                ก. ฟ้อง ข. เรียกเรียกเงินกู้ยืม ในระหว่างพิจารณาคดี ข. ได้รับมรดกจากผู้ตายจึงได้เอาที่นาของผู้ตายไปขายให้คนอื่น เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ที่ผู้ตายเป็นหนี้คนอื่นอยู่ ดังนี้ ข. ย่อมไม่มีความผิดเพราะเป็นหน้าที่ของ ข.  ผู้รับมรดกจะต้องจัดการชำระหนี้ของผู้ตายตามกฎหมายก่อน จะเอาทรัพย์มรดกนั้นมาชำระหนี้ส่วนของตัวของ ข. ไม่ได้ (ฎีกาที่ ๔๙๘/๒๔๖๕)
                ตำราของศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า ความผิดฐานโกงเจ้านี้มาตรา ๓๕๐ นี้ มี ๒ ความผิด คือ
                ๑.เป็นเรื่องกระทำแก่ตัวทรัพย์ ได้แก่ มีการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์นั้น
                ๒.ไม่ได้เป็นการกระทำแก่ตัวทรัพย์ แต่เป็นการแกล้งให้ตนเองเป็นหนี้ ซึ่งไม่เป็นความจริง  เช่น แกล้งทำหนังสือสัญญากู้ ซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้ที่แท้จริงเพื่อจะได้มาขอเฉลี่ยหนี้
                ฎีกาที่ ๑๐๑๗๙/๒๕๕๗ จำเลยที่ ๑ มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ ไถ่ถอนทรัพย์จำนองและขายให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยจงใจกำหนดราคาขายพอดีกับราคาไถ่ถอนจำนอง เพื่อไม่ให้มีเงินส่วนเกินราคาขายตกแก่จำเลยที่ ๑ การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงเป็นการร่วมกันเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ ๑ ได้รับชำระหนี้บางส่วน มีความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้

อ้างอิง
สุปัน พูลพัฒน์. คำอธิบายเรียงมาตราประมวลกฎหมายอาญา,ไม่ปรากฏสำนักพิมพ์, ๒๕๐๖.
หยุด แสงอุทัย. กฎหมายอาญา ภาค ๒-๓ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๐. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๘.

ประมวลกฎหมายอาญา
                มาตรา ๓๕๐ ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ