โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสอันดับแรกที่โจทก์ขอแบ่ง ได้แก่ ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยอ้างว่าโจทก์จำเลยร่วมกันซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ใกล้ท่าอากาศยานเนื้อที่ ๓ งานเศษ ให้จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ฝ่ายโจทก์นอกจากตัวโจทก์จะมาศาลด้วยตนเองยังมีทนายโจทก์มาศาลและร่วมลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมด้วย โจทก์มีโอกาสที่จะคัดค้านข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความได้แต่ขณะที่ทำสัญญาหากไม่เป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ไม่คัดค้านย่อมแสดงว่าโจทก์พอใจในผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จึงได้ตกลงยินยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลย เมื่อศาลพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษานั้นย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง ในภายหลังโจทก์จะมาอ้างว่าทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์ถูกเอาเปรียบและเสียหายจากการฉ้อฉลของจำเลยในวันทำสัญญา ทั้ง ๆ ที่ในสัญญาประนีประนอมยอมความก็ไม่มีเหตุทุจริตผิดกฎหมาย หรือไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันอันจะเป็นเหตุที่จะขอเพิกถอนได้ตามมาตรา ๑๓๘ วรรคสอง หาได้ไม่
                ข้อที่โจทก์อ้างว่าจำเลยฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์โดยอ้างว่าภายหลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว โจทก์ไปขอตรวจสอบรายการจดทะเบียนที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดจึงพบความจริงว่าที่ดินแปลงหนึ่งไม่ได้เป็นไปดังที่จำเลยอ้างกับโจทก์ว่ามารดาจำเลยยกให้เพราะมีชื่อ ห. ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยก็ขัดกับที่โจทก์ระบุมาในฟ้องอ้างว่าโจทก์จำเลยร่วมกันซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมา สัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่เรื่องกลฉ้อฉล

เพิ่มเติม
                ในกรณีที่คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอม หากคู่ความฝ่ายใดฝายหนึ่งเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย คู่ความจะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมดังกล่าว หากเข้าเหตุหนึ่งเหตุใดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด(ฎีกาที่ ๑๐๐๐๕/๒๕๕๙) หากไม่อุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมย่อมถึงที่สุด ไม่อาจถูกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก(ฎีกาที่ ๑๑๗๑๘/๒๕๕๗)  ซึ่งการตกลงประนีประนอมยอมความเป็นไปตามความสมัครใจและบังคับต่อกันได้ โดยหลักความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนาและชอบด้วยกฎหมายสารบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๙ ซึ่งกฎหมายวิธีสบัญญัติคือ ป.วิ.พ. มาตรา ๑๓๘ นั่นเอง(ฎีกาที่ ๖๙๖๘/๒๕๕๙ ประชุมใหญ่) 
                สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันในศาล เพื่อให้ศาลพิพากษาตามยอม ไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ.มาตรา ๑๔๒ ที่ห้ามพิพากษาเกินคำขอ เพียงแต่ต้องตกลงกันในขอบเขตแห่งประเด็นเกี่ยวเนื่องกับประเด็นในคดีเท่านั้น
                ฎีกาที่ ๒๑๗๐/๒๕๑๙ ฟ้องขอให้ถอดชื่อจาก น..3  แล้วแบ่งที่นาซึ่งโจทก์จำเลยเป็นเจ้าของรวม คู่ความยอมความมอบข้าวเปลือกในนาพิพาทแก่โจทก์ด้วย เป็นเรื่องอยู่ในประเด็นแห่งคดีเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการแบ่งพืชผล ศาลพิพากษาตามยอมได้ การยอมความไม่อยู่ในบังคับว่าจะต้องยอมความกันตามคำขอท้ายฟ้องเท่านั้น เช่นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ.มาตรา ๑๔๒
                มาตรา ๑๓๘ “ในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้องนั้น และข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความกันนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ให้ศาลจดรายงานพิสดารแสดงข้อความแห่งข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความเหล่านั้นไว้ แล้วพิพากษาไปตามนั้น
                ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านี้ เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้
                 () เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล
                () เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
                () เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ
                ถ้าคู่ความตกลงกันเพียงแต่ให้เสนอคดีต่ออนุญาโตตุลาการ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับ”

อ้างอิง
วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์. วิ.แพ่งพิสดาร เล่ม ๑ ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี ๒๕๕๓.