โจทก์ตกลงจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลให้แก่จำเลยที่ ๑ ในราคาเงินเชื่อฉบับละ ๑๐๐ บาทโดยรู้อยู่ว่าเป็นการขายสลากกินแบ่งเกินราคาฉบับละ ๘๐ บาท ที่กำหนดในสลากกินแบ่งจำนวน ๖๕๐ เล่ม เป็นเงิน ๖,๕๐๐,๐๐๐ บาท แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ที่กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๓๙ แห่ง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ เพื่อผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการขายสลากกินแบ่งเกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่ง แม้จำเลยที่ ๑ มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์เพื่อให้โจทก์ส่งมอบสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน ๖๕๐ เล่ม โดยไม่มีเจตนาจะใช้เงินที่จำหน่ายสลากกินแบ่งที่ได้รับไปจากโจทก์มาแต่แรกก็ตาม แต่ผลประโยชน์ที่โจทก์จะได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งเกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่งจากจำเลยที่ ๑ เป็นผลประโยชน์ที่ได้สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์กระทำความผิดฐานจำหน่ายสลากกินแบ่งเกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่งตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๓๙ ประกอบกับการกระทำของโจทก์ดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นการส่งเสริมให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานจำหน่ายสลากกินแบ่งเกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่งอีกด้วย โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ ฉ้อโกงโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ในความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ.มาตรา ๓๔๑

เพิ่มเติม
                ป.วิ.อ. มาตรา ๒(๔) บัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ..." ซึ่งบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าวต้องพิจารณาในขณะที่ความผิดเกิดขึ้นว่า บุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดนั้นหรือไม่ อีกทั้งสิทธิของการเป็นผู้เสียหายเป็นสิทธิเฉพาะตัว และไม่อาจโอนสิทธิความเป็นผู้เสียหายไปยังบุคคลอื่นได้ สิทธิในการเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาจึงต้องพิจารณาในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น(ฎีกาที่ ๘๗๘๒/๒๕๕๘)       
กรณีที่ไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
                ๑.มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด
                ๒.ยินยอมให้การมีการกระทำความผิด
                ๓.พัวพันกับการกระทำอันเป็นความผิดหรือเป็นการกระทำโดยมิชอบ
มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด
                ฎีกาที่ ๗๘๖๙/๒๕๖๐ โจทก์ร่วมเป็นนายทุนปล่อยกู้ โดยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์ที่เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายอันเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช ๒๔๗๕ ขณะเกิดเหตุ ไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันหลอกลวงโจทก์ร่วมหรือไม่ก็ตาม ถือได้ว่าโจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย

อ้างอิง
                เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์. คำอธิบายหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการดำเนินคดีในขั้นตอนก่อนการพิจารณา

พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗
                มาตรา ๓๙  ผู้ใดเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้และยังไม่ได้ออกรางวัลเกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่ง ต้องระวางโทษจาคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หมายเหตุ มาตรา ๓๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑/๒๕๕๘ เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล