จำเลยทั้งสองโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายว่าธนาคาร ก. ได้ออกหนังสือค้ำประกันมอบให้ร้านของจำเลยทั้งสอง แต่ความจริงแล้วธนาคารไม่ได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่ร้านของจำเลยทั้งสอง โดยการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองให้ทำความสะอาดอาคารโรงพยาบาล ช. หากจำเลยทั้งสองไม่มีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร ผู้เสียหายจะไม่เข้าทำสัญญาจ้างกับจำเลยทั้งสอง กรณีจึงถือได้ว่านิติกรรมสัญญาจ้างระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองเกิดจากกลฉ้อฉลถึงขนาด สัญญาจ้างดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๙ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง เมื่อผู้เสียหายบอกเลิกสัญญาอันเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม ทำให้สัญญาจ้างตกเป็นโมฆะตั้งแต่วันทำสัญญา ผู้เสียหายและจำเลยทั้งสองจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๗๖ วรรคหนึ่ง แม้การที่จะให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าจ้างทำความสะอาดแก่ผู้เสียหายไม่เป็นการพ้นวิสัย แต่การงานที่จำเลยทั้งสองทำให้ผู้เสียหายไปแล้ว ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้เสียหาย และผู้เสียหายยอมรับเอาการงานของจำเลยทั้งสองแล้ว ตามหนังสือขออนุมัติเบิกจ่ายเงิน ผู้เสียหายก็ต้องกลับคืนไปยังฐานะเดิมด้วยเช่นกันตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๗๖ วรรคหนึ่ง เมื่อการที่จะให้การงานที่ทำไปแล้วกลับคืนยังฐานะเดิมเป็นการพ้นวิสัย ผู้เสียหายจึงต้องใช้ค่าเสียหายที่สมควรแก่หน้าที่การงานให้แก่จำเลยทั้งสองโดยถือว่าค่าจ้างตามฟ้องที่จำเลยทั้งสองได้รับไปแล้วเป็นค่าเสียหายจำนวนนั้น ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยทั้งสองอีก

                ตามฎีกานี้ พนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงผู้เสียหาย และมีคำขอให้คืนเงิน ๑๐๘,๐๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามฟ้อง

เพิ่มเติม
                กลฉ้อฉลตามมาตรา ๑๕๙ คือการใช้อุบายหลอกลวงให้ผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรม โดยที่ผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมนั้นได้แสดงข้อความเท็จหรือปกปิดความจริงไว้(พลภวิษย์ พันธุ์คำเกิด) และผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมอีกฝ่ายหนึ่งหลงเชื่อตามข้อความเท็จดังกล่าว(ฎีกาที่ ๗๒๑๑/๒๕๔๙)
                การปกปิดข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญถึงขนาด ถ้ามิได้ปกปิดข้อเท็จจริงเช่นนั้น การทำนิติกรรมก็คงมิได้เกิดขึ้น การจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๕๙(ฎีกาที่ ๖๓๙๖/๒๕๔๕) 
                ผลของการบอกล้างโมฆียะกรรม  คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมทุกกรณี แม้การคืนทรัพย์จะเป็นการพ้นวิสัยก็ตาม โดยไม่ต้องพิจารณาถึงความสุจริตของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งด้วย วิธีการคืนทรัพย์อนุโลมนำหลักลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยจะใช้เพียงมาตรา ๔๑๕ ถึงมาตรา ๔๑๘ เท่านั้น(พลภวิษย์ พันธุ์คำเกิด)
                ภาระการพิสูจน์ตกแก่คู่กรณีที่ถูกกลฉ้อฉล(ฎีกาที่ ๓๑๐๘/๒๕๔๕)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                มาตรา ๑๕๙ การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ
                การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น
                ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น
                มาตรา ๑๗๖ วรรคหนึ่ง โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน

อ้างอิง
พลภวิษย์ พันธุ์คำเกิด. คู่มือสัมมนาและวิเคราะห์ข้อสอบกฎหมายลักษณะนิติกรรมและหนี้ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กรุงสยามพับลิชชิ่ง, ๒๕๖๐.