โจทก์มอบเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่จำเลย ก็เพราะจำเลยอ้างว่าจะนำไปให้เจ้าพนักงานตำรวจยศระดับพลตำรวจตรี ๒ คน เพื่อช่วยเหลือให้ ร. สามารถสอบเข้ารับราชการตำรวจได้ ซึ่งโจทก์ย่อมจะต้องทราบดีว่า ร. จะเข้ารับราชการตำรวจได้ต้องผ่านการสอบคัดเลือก โดยการสอบคัดเลือกเป็นระเบียบแบบแผนของทางราชการที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติสามารถสมัครสอบได้โดยเสรี และที่สำคัญการจัดสอบจะต้องยุติธรรมเพื่อที่ทางราชการจะได้คนมีความสามารถ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน หากมีการช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้สามารถสอบผ่านแสดงว่ามีการกระทำอันเป็นการทุจริตเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๒(๔) ไม่มีอำนาจฟ้อง

                ตามฎีกานี้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายฟ้องคดีเอง โดยฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ.มาตรา ๑๔๓ และ ๓๔๑ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหาตาม ป.อ.มาตรา ๑๔๓ ให้ประทับฟ้อง ข้อหาอื่นให้ยก

เพิ่มเติม
                ผู้เสียหายมี ๒ ประเภท คือ (๑) ผู้เสียหายที่แท้จริง (๒) ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายที่แท้จริง
                ผู้เสียหายที่แท้จริง มีหลักเกณฑ์ดังนี้(เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์)
                (๑) มีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นต่อบุคคลนั้น
                (๒) บุคคลนั้นได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดนั้น กล่าวคือเป็นผู้เสียหายโดยพฤตินัย
                (๓) บุคคลนั้นเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายกล่าวคือ เป็น “ผู้เสียหายโดยนิตินัย” หมายความว่าไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้น หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดนั้น หรือเกี่ยวข้องพัวพันกับการกระทำความผิดนั้น
                ความผิดฐาน เป็นคนกลางเรียกหรือรับสินบน ตาม ป.อ.มาตรา ๑๔๓ เป็นความผิดต่อรัฐโดยตรง โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายไม่อาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้(ฎีกาที่ ๖๖๑/๒๕๕๔)

ประมวลกฎหมายอาญา
                มาตรา ๑๔๓ ผู้ใดเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาลโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายหรือโดยอิทธิพลของตนให้กระทำการ หรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ้างอิง
เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์. คำอธิบายหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการดำเนินคดีในขั้นตอนก่อนการพิจารณา พิมพ์ครั้งที่ ๗. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พลสยาม พริ้นติ้ง, ๒๕๕๓.