การที่โจทก์เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลและได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาชำระราคาไปจนกว่าคดีที่จำเลยร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทถึงที่สุด ก็เพียงก่อสิทธิแก่โจทก์ว่า โจทก์ยังจะมีสิทธิเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลให้สำเร็จลุล่วงต่อไปเท่านั้น ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้ชำระราคาค่าซื้อทรัพย์สินตามเงื่อนไขการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๓๐ เพราะโจทก์อาจผิดสัญญาการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ทำให้การขายทอดตลาดไม่สำเร็จได้ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

                ตามนี้ฎีกานี้ จำเลยฎีกาว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลและได้ชำระราคาบางส่วน แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่
               
เพิ่มเติม
                ฎีกาที่ ๒๒๔๑/๒๕๔๐ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล และเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว โจทก์จึงเป็นผู้ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๔๕๖ และมาตรา ๑๓๓๐ แม้ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นก็ตาม ก็เป็นเรื่องการเพิกถอนการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๙๖ วรรคสอง อีกส่วนหนึ่งต่างหาก มิใช่การขายทอดตลาดตกเป็นโมฆะ เมื่อศาลยังไม่ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โจทก์ย่อมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยผู้อาศัยอยู่ในที่ดินโดยไม่มีสิทธิได้
                ตามฎีกาที่ ๑๑๖๒/๒๕๖๑(ประชุมใหญ่) นี้ หากมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามคำร้องของจำเลย ต้องถือเสมือนว่าไม่มีการขายทอดตลาด โจทก์(ผู้ซื้อทรัพย์)จะอ้างความคุ้มครองตามมาตรา ๑๓๓๐ นี้ให้ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นไม่ได้(ฎีกาที่ ๒๖/๒๕๓๗, ๘๒๒๓/๒๕๔๒)
               
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                มาตรา ๑๓๓๐ สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล หรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้น ท่านว่ามิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา หรือผู้ล้มละลาย