พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา
๔ ให้นิยามคำว่า “เผยแพร่ต่อสาธารณชน” หมายความว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชน โดย...การทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพ...หรือโดยวิธีการอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น
การที่จะเป็นความผิดฐานดังกล่าวได้ต้องมีการทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนด้วยเสียงและหรือภาพโดยวิธีการอื่นใดซึ่งงานดนตรีกรรม
สิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย แต่จากการบรรยายฟ้องของโจทก์แสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าการเปิดเพลงจาก
“คอมพิวเตอร์ซึ่งบันทึกข้อมูลเพลงของผู้เสียหายพร้อมอุปกรณ์เครื่องเสียงซึ่งใช้ร่วมกับคอมพิวเตอร์ดังกล่าว”
หรือ “คาราโอเกะแบบหยอดเหรียญ” นั้น จะต้องมีลูกค้ามาหยอดเหรียญลงไปในเครื่องดังกล่าวเสียก่อน
จึงจะปรากฏเสียงและหรือภาพให้ร้องเพลงคาราโอเกะได้ หากไม่มีลูกค้าในร้านอาหารดังกล่าวคนใดหยอดเหรียญลงไปแล้ว
ก็ย่อมไม่ปรากฏเสียงและหรือภาพงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย อันจะถือเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามความหมายที่บัญญัติไว้ใน
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๔ ได้ ลำพังเพียงแต่การนำเครื่องคาราโอเกะแบบหยอดเหรียญดังกล่าวไปติดตั้งในร้านอาหาร
ซึ่งอาจมีการทำซ้ำงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตในเครื่องคาราโอเกะดังกล่าว
ยังไม่ถือเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียงเพลงหรือโสตทัศนวัสดุ
อันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๖๙ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๗(๒)
และ ๒๘(๒) ได้ ดังนั้น การบรรยายข้อเท็จจริงในฟ้องดังกล่าวจึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่อาจเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรม
สิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์เพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗
มาตรา ๖๙ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๗(๒) และ
๒๘(๒) ได้ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา ๑๕๘(๕) แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา ๑๘๕ วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
(ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ.๒๕๕๘ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
พ.ศ.๒๕๓๘ มาตรา ๔๕(เดิม) และ ป.วิ.อ.มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง
เพิ่มเติม
งานดนตรีกรรมที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์
ต้องมีทำนองเพลงเป็นสำคัญ จะมีคำร้องหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ ลำพังเพียงทำนองเพลงอย่างเดียวก็ถือว่าเป็นดนตรีกรรมแล้ว(ฎีกาที่
๙๖๐๒/๒๕๕๔)
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
พ.ศ.๒๕๓๗
มาตรา ๑๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๙
มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๔ เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวดังต่อไปนี้
(๑) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(๒) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(๓)
ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์
และสิ่งบันทึกเสียง
(๔)
ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น
(๕) อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม
(๑) (๒) หรือ (๓) โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ก็ได้
แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้
การพิจารณาว่าเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง
(๕) จะเป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๗ การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๕ (๕) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(๒) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
มาตรา ๒๘ การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โสตทัศนวัสดุ
ภาพยนตร์
หรือสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา
๑๕ (๕) ทั้งนี้
ไม่ว่าในส่วนที่เป็นเสียงและหรือภาพ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(๒) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
มาตรา ๖๙ ผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามมาตรา
๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๕๒
ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อการค้า
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี
หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
0 Comments
แสดงความคิดเห็น