ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามใบจองของโจทก์ จำเลยร่วมที่ ๑ หามีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทไม่ หนังสือรับรองการทำประโยชน์(..๓ ก.) ที่ทางราชการออกให้ในนามของจำเลยร่วมที่ ๑ ในที่ดินพิพาทจึงออกทับที่ดินตามใบจองของโจทก์โดยไม่ชอบ ชอบที่จะต้องเพิกถอนเสียตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๑ จำเลยร่วมที่ ๒ และจำเลยผู้รับโอนต่อมาตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว แม้หากจะกระทำโดยสุจริตหรือมีค่าตอบแทนด้วย ในกรณีของจำเลยก็หามีสิทธิใดๆในที่ดินพิพาทเช่นกันเพราะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

เพิ่มเติม
                หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน กล่าวคือ ผู้โอนมีแค่ไหน ก็โอนไปได้แค่นั้น หากไม่มีอะไรเลย ผู้รับโอนก็ไม่ได้รับอะไรไป โดยหลักที่ว่าผู้โอนย่อมไม่มีสิทธิโอนไปในสิ่งซึ่งเขาไม่มี หมายความว่า มีเพียงใดก็โอนได้เพียงนั้น หากไม่ใช่เจ้าของก็ไม่มีสิทธิโอนไป(สุพิศ ประณีตพลกรัง)
                การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรม จะต้องเป็นการได้มาจากผู้ที่มีอำนาจจะโอนให้ได้ด้วย หากผู้ที่โอนให้ไม่มีอำนาจที่จะโอน ผู้รับโอนก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ เช่น ได้จากผู้ที่มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์(ดูฎีกาที่ ๙๙๖-๙๙๗/๒๕๐๙) หรือจากผู้ที่มิใช่ตัวแทนโดยชอบของเจ้าของกรรมสิทธิ์(บัญญัติ สุชีวะ) หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนไม่นำไปใช้ในกรณีมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง, ๑๓๐๐, และมาตรา ๑๓๒๙ ถึง ๑๓๓๒
                ฎีกาที่ ๙๙๖-๙๙๗/๒๕๐๙ ขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของผู้อื่น และเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดให้โดยไม่มีอำนาจ โฉนดที่ออกมาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้โอนจึงไม่มีกรรมสิทธิ์ตามโฉนดที่เจ้าพนักงานที่ดินออกให้ การที่ผู้โอนได้โอนโฉนดดังกล่าวให้ผู้อื่นต่อไปจึงเป็นการโอนสิ่งซึ่งตนไม่มีกรรมสิทธิ์ และหาก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์แก่ผู้รับโอนไม่

ประมวลกฎหมายที่ดิน
                มาตรา ๖๑ วรรคหนึ่ง เมื่อความปรากฏว่าได้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือผู้ตรวจราชการกรมที่ดินมีอำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้

อ้างอิงหนังสือ
บัญญัติ สุชีวะ. คำอธิบายกฎหมายลักษณะทรัพย์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๗. สำนักพิมพ์กรุงสยามพับลิชชิ่ง, ๒๕๕๙.
สุพิศ ประณีตพลกรัง. หลักและทฤษฎีกฎหมายแพ่ง. สำนักพิมพ์นิติธรรม, ๒๕๕๙.