เดิม ต. และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่
๖๔๗๔ เนื้อที่ ๓ งาน ๔ ตารางวา ต. และจำเลยเป็นพี่น้องกันโจทก์เป็นหลาน ต. แล้ว ต.
จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรม โดยโจทก์ไปอาศัยอยู่กับ ต. ตั้งแต่โจทก์ยังเป็นเด็กที่บ้านเลขที่
๕๓ ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นบ้านติดกันจำนวน ๒ หลัง ระหว่างนั้นมี ต. โจทก์และจำเลยพักอาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าว หลังจาก
ต. จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนพร้อมบ้าน ๒ หลัง เลขที่ ๕๓ ดังกล่าวแก่โจทก์แล้วจำเลยยังคงพักอาศัยอยู่กับ
ต. และโจทก์ที่บ้านเลขที่ ๕๓ แต่หลังจาก ต. ถึงแก่ความตายแล้ว
จำเลยออกจากบ้านเลขที่ ๕๓ ไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านน้องสาวจำเลยที่อยู่คนละฝั่งของถนน
ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่านับแต่นั้นเป็นต้นมาโจทก์และจำเลยแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทออกเป็นสัดส่วนโดยปริยาย
โจทก์จึงมีสิทธิได้ส่วนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้ มีเนื้อที่ประมาณ
๑ งาน ๓๗ ตารางวา ในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล.๑ ดังที่โจทก์นำชี้
ส่วนที่ดินพิพาทที่เหลือนอกนั้นทางด้านทิศเหนือเป็นส่วนของจำเลย
หาใช่โจทก์มีสิทธิในส่วนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทมีเนื้อที่เท่ากันคือประมาณ
๑ งาน ๕๒ ตารางวา ไม่
การที่ผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๓๕๗ นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ยังไม่ได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วน
จึงจะถือว่าผู้เป็นเจ้าของรวมมีส่วนในที่ดินทั้งแปลงเท่ากัน
แต่คดีนี้โจทก์และจำเลยแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทออกเป็นสัดส่วนแล้ว
จึงต้องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมไปตามที่มีการครอบครองดังกล่าว ซึ่งอาจไม่เท่ากันได้
เพิ่มเติม
เจ้าของรวม หมายถึง
บุคคลหลายคนต่างเป็นเจ้าของทรัพย์สินอันเดียวกันร่วมกันโดยมิได้แยกเป็นสัดส่วนว่าผู้ใดเป็นเจ้าของส่วนใดของทรัพย์นั้น
ดังบัญญัติไว้มาตรา ๑๓๕๖ ว่า “ถ้าทรัพย์สินเป็นของบุคคลหลายคนรวมกัน
ท่านให้ใช้บทบัญญัติในหมวดนี้บังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
และมาตรา ๑๓๕๗ บัญญัติว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน”
อ้างอิง
สมจิตร์
ทองศรี. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยทรัพย์ พิมพ์ครั้งที่ ๒
0 Comments
แสดงความคิดเห็น