การที่ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทก่อนที่ผู้ร้องกับจำเลยจะจดทะเบียนสมรสกัน
ย่อมถือได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องมีอยู่ก่อนสมรสและเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตาม
ป.พ.พ.มาตรา ๑๔๗๑ (๑) ส่วนการที่ต่อมาผู้ร้องนำที่ดินพิพาทที่ซื้อได้กรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้ก็เป็นสิทธิที่ผู้ร้องสามารถทำได้
และการที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นภริยาร่วมผ่อนชำระด้วยก็เป็นเพียงการช่วยชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ผู้ร้องเท่านั้น
กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของร่วมกับผู้ร้องในที่ดินพิพาท เมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทอันเป็นสินส่วนตัวผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดไว้คือที่ดินพิพาทได้ตาม
ป.วิ.พ.มาตรา ๒๘๘ (เดิม) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
บ้านพิพาทบนที่ดินพิพาทเป็นบ้านตึกสองชั้นที่ก่อสร้างขึ้นใหม่แทนบ้านหลังเดิมที่เป็นบ้านตึกชั้นเดียว
แต่ยังคงใช้เลขที่บ้านตามเดิม และด้วยเงินที่ได้มาระหว่างสมรสของผู้ร้องกับจำเลยที่
๑ และผู้ร้องกับจำเลยที่ ๑ ใช้บ้านหลังดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าบ้านพิพาทก่อสร้างขึ้นโดยได้รับความยินยอมและอยู่ในความรู้เห็นของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท
อันถือได้ว่าเข้าข้อยกเว้นในกรณีที่ผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธิปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นตาม
ป.พ.พ.มาตรา ๑๔๖ และไม่ถือว่าบ้านพิพาทเป็นทรัพย์ส่วนควบของที่ดินอันตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแต่ผู้เดียวตาม
ป.พ.พ.มาตรา ๑๔๔ หากแต่บ้านพิพาทเป็นสินสมรสไม่ใช่สินส่วนตัวจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของจำเลยที่
๑ กับผู้ร้อง เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของร่วมในบ้านพิพาทด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดไว้ในส่วนบ้านพิพาทได้
เพิ่มเติม
มาตรา ๒๘๘ เดิม ปัจจุบันคือมาตรา
๓๒๓ ซึ่งการร้องขัดทรัพย์ตามมาตรา ๒๘๘ เดิม กับ มาตรา ๓๒๓ ยังคงหลักการเดิมคือ “จำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้”
ดังนั้น ตามฎีกานี้จึงใช้เป็นบรรทัดฐานตามมาตรา ๓๒๓ ได้
ตามมาตรา ๓๒๓ คำว่า “ภายใต้บังคับมาตรา
๕๕” หมายถึง บุคคลผู้มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้จะต้องมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ร้องกับโจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยึดในทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้
โดยต้องแสดงให้เห็นในคำร้องขอด้วยว่า
(๑) จำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้
(๒) ตนเป็นเจ้าของรวมซึ่งมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้แบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัด
(๓) ตนเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์แบ่งได้
(๔) ตนเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนในทรัพย์สินนั้นได้อยู่ก่อน
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๓๒๓ วรรคหนึ่ง
ภายใต้บังคับมาตรา ๕๕
บุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้
หรือตนเป็นเจ้าของรวมซึ่งมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้แบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัด หรือตนเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์แบ่งได้
หรือตนเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนในทรัพย์สินนั้นได้อยู่ก่อน
บุคคลนั้นอาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนหรือเฉพาะส่วนของตน
แล้วแต่กรณี โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น
แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว
บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและได้ยื่นคำร้องขอไม่ช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก
เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอในภายหลังก็ได้
แต่จะต้องยื่นเสียก่อนขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น
มาตรา ๒๘๘ (เดิม) ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา
๕๕
ถ้าบุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้
อ้างอิง
หนังสือ
สมชัย ฑีฆาอุตมากร.
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ฉบับ สมบูรณ์,
๒๕๖๑.
0 Comments
แสดงความคิดเห็น