พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๕ วรรคหนึ่ง บทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะแต่กรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกจนเกิดความเสียหายขึ้น ผู้เสียหายสามารถฟ้องหน่วยงานของรัฐต่างๆได้โดยตรง แต่จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ออกคำสั่งให้โจทก์ชำระเงินสมทบเพิ่มเติมพร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายและจำเลยที่ ๓ เป็นผู้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยยืนตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ โจทก์ผู้อุทธรณ์จึงนำคดีไปสู่ศาลแรงงานเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ และเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๓ ดังกล่าว อันเป็นการดำเนินการไปตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.๒๕๓๓ มาตรา ๘๕ และมาตรา ๘๗ มิใช่เป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รับผิดค่าเสียหายในมูลละเมิด ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้
โจทก์เรียกเก็บเงินค่าบริการจากลูกค้าที่มาใช้บริการของโจทก์ในอัตราร้อยละ ๕ โจทก์จะกันเงินดังกล่าวออกเป็นเงินส่วนกลางของพนักงานโดยมิได้เก็บหรือบันทึกเป็นรายได้ของโจทก์ โดยเงินค่าบริการจะถูกแบ่งไว้ในอัตราร้อยละ ๑๐ เพื่อใช้จัดกิจกรรมให้พนักงาน เช่น งานวันเกิด ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๙๐ จะถูกนำมาแบ่งให้พนักงานที่มีสิทธิได้รับอย่างเท่าเทียมกันโจทก์ไม่มีการประกันเงินค่าบริการขั้นต่ำต่อเดือนให้พนักงาน โจทก์ไม่ได้นำเงินค่าบริการมาเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างเพื่อทำให้พนักงานของโจทก์ทุกคนมีรายได้ไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ทั้งเงินค่าบริการนี้มีจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ดังนั้นเงินค่าบริการจึงไม่ใช่เงินของนายจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ จึงไม่ใช่ค่าจ้างตามมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.๒๕๓๓ ที่จะต้องนำมารวมคำนวณเงินสมทบ โจทก์จึงไม่จำต้องชำระเงินสมทบเพิ่มเติม
               ตามฎีกานี้ โจทก์ประกอบกิจการโรงแรมเรียกเก็บเงินค่าบริการ(Service Charge) จากลูกค้าที่มาใช้บริการของโจทก์ในอัตราร้อยละ ๕ จำเลยที่ ๑ เป็นสำนักงานประกันสังคม จำเลยที่ ๒ เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ เป็นคณะกรรมการอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.๒๕๓๓ จำเลยที่ ๒ มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเพิ่มเติมและเงินเพิ่ม โดยเงินค่าบริการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าจ้าง และจำเลยที่ ๓ มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒  

เพิ่มเติม
               ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๕ มีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐโดยตรง จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ เพื่อมิให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่และยังเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ อันเป็นบทยกเว้นหลักกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีไม่อาจนำหลักความรับผิดของผู้กระทำละเมิดและเรื่องความรับผิดของนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐ และมาตรา ๔๒๕ มาใช้บังคับกับคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง(ฎีกาที่ ๑๖๑๕๐/๒๕๕๖)

 พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙
               มาตรา ๕ หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง

พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.๒๕๓๓
               มาตรา ๕ ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วย  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณหรือจ่ายในลักษณะใดหรือโดยวิธีการใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร
               มาตรา ๘๕ นายจ้าง ผู้ประกันตน หรือบุคคลอื่นใด ซึ่งไม่พอใจในคำสั่งของเลขาธิการหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่เป็นคำสั่งตามมาตรา ๕๐ ให้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว
               มาตรา ๘๗ ให้คณะกรรมการอุทธรณ์มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ยื่นตามมาตรา ๘๕
เมื่อคณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ให้แจ้งคำวินิจฉัยนั้นเป็นหนังสือให้ผู้อุทธรณ์ทราบ
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์นั้น ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจ ให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย แต่ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นที่สุด