จำเลยตั้ง ส. เป็นทนายความของจำเลยภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้ว แต่ ส. จะใช้สิทธิในการอุทธรณ์แทนจำเลยก็ต้องได้รับมอบอำนาจจากจำเลยโดยชัดแจ้งให้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย ตามใบแต่งทนายความที่จำเลยตั้ง ส. เป็นทนายความระบุให้ ส. มีอำนาจยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ และขอให้พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้น ไม่ได้ระบุให้มีอำนาจใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ส.  จึงไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใช้สิทธิในการอุทธรณ์แทนจำเลยได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๖๒ ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา ๑๕ ดังนั้น คำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ที่ ส. ลงในมือชื่อเป็นผู้ร้องโดยมีโดยไม่มีอำนาจเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์จึงไม่ชอบ ทั้งอุทธรณ์ของจำเลยที่ ส. ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์โดยไม่มีอำนาจเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา ๑๕๘(๗) ประกอบมาตรา ๒๑๕
               ตามฎีกานี้ การขอขยายอุทธรณ์ไม่ชอบ และการอุทธรณ์ก็ไม่ชอบ

หมายเหตุท้ายฎีกาโดย อ.สมชัย ฑีฆาอุตมากร
               อ.สมชัยเขียนไว้ว่า แนวคำพิพากษาศาลฎีกาในระยะหลังๆ ให้มีการแก้ไขในเรื่องใบแต่งทนายความตามมาตรา ๖๒ ได้( คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๘๔๘/๒๕๕๕ และ ๓๕๐/๒๕๕๘)
               คำพิพากษาฎีกานี้กลับไปเดินตามคำพิพากษาฎีกาเดิม เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๑/๒๕๒๔, ๓๓๘๑/๒๕๒๕, ๒๖๘๔/๒๕๓๖, ๕๘๕๘/๒๕๔๘ และ ๙๖๐๙/๒๕๕๓

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
               มาตรา ๖๒ ทนายความซึ่งคู่ความได้ตั้งแต่งนั้นมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนคู่ความได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคู่ความนั้น แต่ถ้ากระบวนพิจารณาใดเป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิ หรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกา หรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ทนายความไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาเช่นว่านี้ได้ โดยมิได้รับอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง อำนาจโดยชัดแจ้งเช่นว่านี้จะระบุให้ไว้ในใบแต่งทนายสำหรับคดีเรื่องนั้น หรือทำเป็นใบมอบอำนาจต่างหากในภายหลังใบเดียวหรือหลายใบก็ได้ และในกรณีหลังนี้ให้ใช้บทบัญญัติมาตรา ๖๑ บังคับ
               กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ตัวความหรือผู้แทนจะปฏิเสธหรือแก้ไขข้อเท็จจริงที่ทนายความของตนได้กล่าวด้วยวาจาต่อหน้าตนในศาลในขณะนั้นก็ได้ แม้ถึงว่าตัวความหรือผู้แทนนั้นจะมิได้สงวนสิทธิเช่นนั้นไว้ในใบแต่งทนายก็ดี

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               มาตรา ๑๕๘ ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี
               (๗) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง
               มาตรา ๒๑๕ นอกจากที่บัญญัติมาแล้ว ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาและว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นมาบังคับในชั้นศาลอุทธรณ์ด้วยโดยอนุโลม