ข้อความตามหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ นอกจากอ้างถึงหนังสือ ๓ ฉบับ ได้แก่
๑. สัญญาเช่าซื้อเลขที่ YAMT ๕๒-๒๐๔๐ ๒. สัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง
๓. หนังสือแจ้งบอกกล่าวโอนสิทธิเรียกร้อง แล้วยังระบุข้อความอันเป็นเนื้อหาในหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ว่า
“...ต่อมาบริษัทได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อที่อ้างถึง ๑ ให้แก่บริษัท ค.
ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่อ้างถึง ๒ และได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องมายังท่านแล้วตามหนังสืออ้างถึง
๓...” ข้อความดังกล่าวมีรายละเอียดแสดงถึงสิทธิทวงถามให้ชำระหนี้ก่อนฟ้องคดีนี้ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องย่อมถือได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกหนี้โดยชอบตาม
ป.พ.พ.มาตรา ๓๐๖ วรรคแรก แม้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้แนบหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปกับหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้หรือไม่ก็ตาม
ก็ต้องถือว่าโจทก์ได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องแต่จำเลยทั้งสามแล้ว
รถที่เช่าซื้อเป็นรถแทรกเตอร์จึงไม่อยู่ในบังคับของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา
เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา
พ.ศ.๒๕๔๓ อันจะทำให้การบอกกล่าวให้ชำระหนี้และเลิกสัญญาไม่ต้องทำตามประกาศ แต่เมื่อจำเลยที่
๑ ชำระหนี้ไม่ตรงตามวันเวลาและจำนวนค่างวดที่กำหนดมาตลอดตั้งแต่งวดแรก แต่บริษัท
พ. ในฐานะตัวแทนก็รับชำระหนี้เรื่อยมาอันถือเป็นพฤติการณ์ที่คู่กรณีไม่คำนึงถึงกำหนดเวลาเป็นสาระสำคัญ
ดังนั้นหากประสงค์จะบอกเลิกสัญญาโจทก์ต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ.มาตรา ๓๘๗ เสียก่อน กล่าวคือต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่
๑ ชำระหนี้ภายในระยะเวลาพอสมควร และถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลา จึงจะเลิกสัญญาได้
เมื่อโจทก์ไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงยังไม่เลิกกัน
การที่โจทก์ไปยึดรถคืนมาโดยจำเลยที่ ๑ ไม่โต้แย้งคัดค้าน พฤติการณ์ถือว่าคู่สัญญาต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย
โจทก์ย่อมไม่อาจเรียกค่าขาดราคารถยนต์ที่เช่าซื้อโดยอาศัยข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อได้อีก
ตามฎีกานี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่าให้บังตับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะค่าขาดประโยชน์
๓๕,๐๐๐ บาท และค่าติดตามรถคืน ๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
เพิ่มเติม
การโอนสิทธิเรียกร้องอาจมีการโอนต่อ
ๆ กันไปหลายทอดก็ได้(ฎีกาที่ ๑๙๙๖/๒๕๒๗)
การโอนสิทธิเรียกร้องจะโอนให้แก่ผู้ใดก็ได้
ผู้รับโอนไม่จำเป็นต้องมีส่วนได้เสีย(ฎีกาที่ ๖๓๓๔/๒๕๕๐)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๓๐๖ การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ
ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น
คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ
มาตรา ๓๘๗ ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร
แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้
อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้
อ้างอิง
ศ.ไพโรจน์ วายุภาพ หนังสือ
คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วย หนี้ พิมพ์ครั้งที่ ๑๒
0 Comments
แสดงความคิดเห็น