ในคดีขอจัดการมรดกของผู้ตายผู้ร้อง(จำเลยคดีนี้) ยื่นคำร้องว่าเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมีบุตร ๑ คน คือ ก. ผู้ร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้าน(โจทก์ที่ ๒ คดีนี้) ยื่นคำคัดค้านว่าผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยถือกรรมสิทธิ์รวมและในนามผู้ตาย ผู้ร้องไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพราะผู้ร้องกับบุตรมิได้ดูแลผู้ตาย ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายคดีดังกล่าวจึงมีประเด็นว่า ผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลหรือไม่ มีเหตุที่จะต้องตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ ผู้ร้องและผู้คัดค้านต้องห้ามเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ และสมควรตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าผู้คัดค้านเป็นทายาทผู้ตายและ ก. เป็นบุตรที่แท้จริงของผู้ตายหรือไม่ ตามที่โจทก์ตั้งเป็นประเด็นในคดีนี้ จึงมีประเด็นต่างกัน แม้ในคดีก่อนศาลชั้นต้นจะฟังว่าผู้คัดค้านเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายเป็นทายาทลำดับที่ ๓ ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นประเด็นที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วในคดีก่อนและผูกพันโจทก์ที่ ๒ และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด จึงไม่อาจนำผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวมาผูกพันโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ได้ และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วว่า ก. เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่พิจารณาสั่งคำร้องของโจทก์ทั้งสองที่ขอท้าตรวจพันธุกรรมและคำร้องของจำเลยที่ขออนุญาตยื่นคำให้การ และงดสืบพยาน แล้วมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น จึงไม่ชอบ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาคัดค้านกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งงดสืบพยานโดยมีคำขอเพียงให้ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นสืบพยานแล้วมีคำพิพากษาใหม่ มิได้มีคำขอให้โจทก์ทั้งสองชนะคดีตามฟ้อ งจึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาเพียงชั้นละ ๒๐๐ บาท ตามตาราง ๑ ค่าฤชาธรรมเนียม (๒) ท้าย ป.วิ.พ. จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาแก่โจทก์ทั้งสองปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบมาตรา ๒๔๖ และ ๒๔๗ (เดิม)
ตามฎีกานี้ ในคดีร้องขอจัดการมรดก(คดีก่อน) มีประเด็นว่า
               ๑.ผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลหรือไม่
๒.มีเหตุที่จะต้องตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่
๓.ผู้ร้องและผู้คัดค้านต้องห้ามเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ และ
๔.สมควรตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
               คดีนี้ โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กลับคืนสู่กองมรดกของผู้ตาย ในวันนัดพิจารณา โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องว่า ก. ไม่ใช่บุตรที่แท้จริงของจำเลยกับผู้ตาย ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้มีการตรวจพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์ความเป็นบุตรที่แท้จริง โดยให้ถือเอาผลตรวจดังกล่าวเป็นผลแพ้ชนะในคดี ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความแล้วได้ขอเท็จจริงเพียงพอที่วินิจฉัยคดีได้ จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอให้ตรวจสารพันธุกรรมของโจทก์ทั้งสองและคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลย งดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้อง
               ศาลฎีกาพิพากษา ...ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องของโจทก์ทั้งสองและของจำเลยแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานต่อไป แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี...

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๑๔๕ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกา และการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี
ถึงแม้ศาลจะได้กล่าวไว้โดยทั่วไปว่าให้ใช้คำพิพากษาบังคับแก่บุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลด้วยก็ดี คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมไม่ผูกพันบุคคลภายนอก เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๒ (๑) มาตรา ๒๔๕ และมาตรา ๓๖๖ และในข้อต่อไปนี้
(๑) คำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล หรือคำพิพากษาสั่งให้เลิกนิติบุคคล หรือคำสั่งเรื่องล้มละลายเหล่านี้ บุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างอิงหรือจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกก็ได้
(๒) คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด ๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม