น.บุตรของโจทก์ร่วมรักใคร่ชอบพอกับ
ช. บุตรชายจำเลยจนฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ โจทก์ร่วมและจำเลยได้พิธีมงคลสมรสให้แก่ น.
และ ช. ที่บ้านของโจทก์ร่วม โดยฝ่ายจำเลยมอบเงินสด ๒๐๐,๐๐๐ บาท สร้อยคอทองคำ ๕
เส้น สร้อยข้อมือทองคำ ๔ เส้น ที่ฝ่ายจำเลยอ้างว่า มีน้ำหนัก ๙ บาท
ให้แก่ฝ่ายโจทก์ร่วม ต่อมาวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ
โจทก์ร่วมนำสร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์ตามฟ้องไปตรวจสอบพร้อมกับฝ่ายจำเลยที่ร้านทอง
ผลการตรวจสอบได้น้ำหนักเพียง ๘.๒๕ บาท จึงเกิดการโต้เถียงกัน ระหว่างนั้น
จำเลยหยิบเอาสร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำ รวม ๙ เส้น ราคา ๑๙๓,๘๗๕ บาท
ที่วางอยู่บนโต๊ะร้านทองไป สร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำจะเป็นสินสอดหรือของหมั้นหรือไม่ก็ตาม
แต่ฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายชายส่งมอบให้แก่ฝ่ายโจทก์ร่วมยึดถือครอบครองอันเป็นการยกให้ในวันพิธีมงคลสมรสแล้ว
จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์ตามฟ้อง ดังนี้ หากจำเลยเห็นว่าฝ่ายโจทก์ร่วมไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างไร
ก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อเรียกทรัพย์คืน หามีสิทธิฉกฉวยเอาทรัพย์มาโดยพลการไม่
การที่จำเลยหยิบไปต่อหน้าโจทก์ร่วมขณะโต้เถียงกัน เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง
จึงเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าอันเป็นความผิดอันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๖ วรรคแรก
เพิ่มเติม
แนวคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไปนี้
ศาลฎีกาไม่ได้ถือเอาคำว่าฉกฉวยเป็นสาระสำคัญ
ฎีกาที่ ๙๑๙/๒๕๐๓ จำเลยเข้าไปในร้านขอซื้อสุราเจ้าของร้านบอกว่าหมดเวลาแล้วขายไม่ได้
จำเลยพูดว่าไม่ขายก็จะเอาไปกินเฉยๆ จะทำอะไรเขา
แล้วจำเลยหยิบขวดสุราออกจากร้านไปด้วย
ดังนี้เป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าเข้าองค์ประกอบความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
ฎีกาที่ ๓๖๒๔/๒๕๓๐ จำเลยขายสร้อยให้ผู้เสียหาย
๔ เส้นในราคา ๑๐๐ บาทเศษ แต่จำเลยกลับหยิบเอาธนบัตรฉบับละ ๕๐๐ บาท จำนวน ๑ ฉบับ จากในกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายไปโดยพลการในทันทีที่ผู้เสียหายเปิดกระเป๋าสตางค์
ซึ่งผู้เสียหายยังมิทันได้หยิบธนบัตรดังกล่าวส่งให้จำเลย แล้วจำเลยก็หลบหนีไปเช่นนี้
การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการผิดสัญญาในทางแพ่งหรือเข้าใจผิดเพราะสื่อความหมายกันไม่รู้เรื่องแต่อย่างไร
การกระทำของจำเลยเข้าลักษณะลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าจำเลยจึงมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓๓๖ ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี
และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
อ้างอิง
ศาสตราจารย์พิเศษหม่อมหลวงไกรฤกษ์
เกษมสันต์. หนังสือรวมคำบรรยายสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เล่ม ๑๐
สมัย ๖๙.
0 Comments
แสดงความคิดเห็น