ที่ดินพิพาทคดีนี้กับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน เมื่อคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว
ย่อมผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงรับฟังตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๓๘๑๕ เนื้อที่ ๖๖
ตารางวา ถูกแบ่งแยกไว้เพื่อให้ที่ดินแปลงจัดสรรใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะโดยเจ้าของที่ดินจัดสรรได้ใช้ทางดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะประโยชน์ตลอดมาก่อนจำเลยทำประตูและรั้วปิดกั้นทางพิพาท เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๘๑๕ เป็นทางส่วนบุคคลที่เจ้าของมีเจตนาแบ่งแยกให้เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงจัดสรรและมีการใช้ประโยชน์เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงจัดสรรมาแล้วเป็นเวลา
๑๐ ปี ก่อนที่จำเลยจะทำประตูกั้นทาง ถนนซอยตามโฉนดเลขที่
๓๘๑๕ ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงจัดสรรที่อยู่ข้างเคียงโดยอายุความแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นภาระจำยอมด้วย
ซึ่งความเป็นภารยทรัพย์นี้ ย่อมตกติดไปกับตัวทรัพย์นั้นโดยไม่ต้องคำนึงว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินภารยทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้ตกเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ในเวลาต่อมาแต่อย่างใด
ขณะ ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่
๗๗๘๔ ส. ได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าสู่ทางสาธารณประโยชน์ตลอดมาเกิน ๑๐ ปี แสดงว่า
ส. ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทในลักษณะที่เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของตน ดังนั้น
ที่ดินพิพาทตามที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๘๑๕ ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๗๘๔ ด้วย โจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๗๘๔ อันเป็นสามายทรัพย์มาจาก
ส. ภาระจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ที่โอนด้วย โจทก์จึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในทางพิพาทอันเป็นภาระจำยอม การที่จำเลยทำประตูเลื่อนปิดเปิดและกำแพงรั้วสังกะสีปิดกั้นทางพิพาทย่อมทำให้ประโยชน์แก่ภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกแก่โจทก์ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของเจ้าของสามยทรัพย์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยเปิดที่ดินพิพาทเพื่อใช้เป็นทางรถยนต์เข้าสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้
ที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโจทก์นั้น
พอแปลเจตนาของโจทก์ได้ว่า โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยเปิดที่ดินพิพาท
เพื่อโจทก์จะใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางรถยนต์เข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์โดยที่ดินพิพาทจะตกเป็นภาระจำยอมหรือทางจำเป็นแก่ที่ดินโจทก์ก็ไม่มีนัยสำคัญ
ถือว่าโจทก์มีคำขอให้ที่ดินพิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ด้วย
เพิ่มเติม
การได้มาซึ่งภาระจำยอม อาจได้มาโดย ๓ ทางด้วยกัน
คือ ๑.โดยนิติกรรม ๒.โดยอายุความ ๓.โดยผลของกฎหมาย
ซึ่งการมาซึ่งภาระจำยอมโดยผลของกฎหมาย เช่น ตามมาตรา ๑๓๑๒, ๑๓๓๙-๑๓๔๓ และ ๑๓๕๒ รวมถึงกรณีตาม
พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.๒๕๔๓ ด้วย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๓๘๗ อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น
มาตรา ๑๓๙๐ ท่านมิให้เจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใดๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก
มาตรา ๑๔๐๑ ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิ์อันกล่าวไว้ในลักษณะ
3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
อ้างอิง
สมจิตร์ ทองศรี
หนังสือรวมคำบรรยายเนติบัณฑิตยสภา ภาคหนึ่ง สมัยที่ ๖๙ เล่มที่ ๑๖.
0 Comments
แสดงความคิดเห็น