ตามบันทึกข้อตกลงการรับเงินค่าจ้างพิเศษสำหรับพยาบาลเข้าใหม่ ระบุว่า “ด้วย “พนักงาน” เป็นพนักงานเข้าใหม่ ซึ่งได้ตกลงรับเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) จาก “นายจ้าง” เพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายส่วนตัวในการเริ่มต้นทำงาน ทั้งนี้ “พนักงาน” ได้รับเงินดังกล่าวจากนายจ้างครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว ณ วันที่ทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ โดย “พนักงาน” ตกลงยินยอมที่จะทำงานกับ “นายจ้าง” เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า ๕ ปี นับจากวันที่เริ่มต้นทำงานของ “พนักงาน” หากพนักงานกระทำผิดข้อตกลงโดยทำงานไม่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว “พนักงาน” ยินยอมที่จะคืนเงินเต็มจำนวนตามที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี โดยให้เริ่มคิดดอกเบี้ยนับจากวันที่ทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้เป็นต้นไปให้แก่ “นายจ้าง” ในทันทีโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น...” มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่กำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาคือต้องทำงานให้แก่โจทก์เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า ๕ ปี นับจากวันที่เริ่มต้นทำงานของจำเลย หากทำงานไม่ครบตามระยะเวลาดังกล่าวจำเลยจะต้องคืนเงินเต็มจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ที่ได้รับไป กรณีจึงมิใช่การกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันเป็นเบี้ยปรับ
               จำเลยทำงานให้แก่โจทก์เพียง ๑ ปี ๑๑ เดือนเศษ แล้วไม่มาทำงานอีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นการผิดสัญญา และการที่จำเลยละทิ้งหน้าที่ไม่มาทำงานให้โจทก์ทั้งต่อมาโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ที่ได้รับไปแล้วและฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิเลิกสัญญา อันมีผลให้ผู้สัญญากลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดินตาม ป.พ.พ.มาตรา ๓๙๑ วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระไปแล้วจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยได้ทำงานให้แก่โจทก์เป็นระยะเวลา ๑๑ ปี ๑๑ เดือน ๕ วัน อันเป็นการชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ โจทก์จึงต้องให้จำเลยกลับคืนสู่ฐานะเดิมด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการทำงานให้โจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๓๙๑ วรรคสาม
               ดอกเบี้ยตามบันทึกข้อตกลงที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี นั้น ถ้าจำเลยไม่ผิดสัญญา โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยดังกล่าวจากจำเลยได้ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้าอันเป็นเบี้ยปรับ ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๓๗๙ ศาลแรงงานกลางมีอำนาจปรับลดลงได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๓๘๓ วรรคหนึ่ง

เพิ่มเติม
               เบี้ยปรับ ในทางปฏิบัติอาจเรียกเป็น ค่าปรับ ค่าเสียหาย ดอกเบี้ย หรือเรียกชื่ออื่นใด หากเข้าลักษณะเป็น “ค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า” เช่นนี้ เป็นเบี้ยปรับ ดังนั้น เบี้ยปรับจึงต้องโยงกับหลักลูกหนี้ผิดนัดตาม ป.พ.พ.มาตรา ๒๐๔-๒๐๕ กล่าวคือ จะริบเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อลูกหนี้มีความผิดในการไม่ชำระหนี้ ถ้าลูกหนี้ไม่ผิดสัญญา ย่อมไม่อาจเรียกเบี้ยปรับได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๓๖๙ ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้ หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด
               มาตรา ๓๗๙ ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ ถ้าการชำระหนี้อันจะพึงทำนั้น ได้แก่การงดเว้นการอันใดอันหนึ่ง หากทำการอันนั้นฝ่าฝืนมูลหนี้เมื่อใด ก็ให้ริบเบี้ยปรับเมื่อนั้น

อ้างอิง
พลภวิษย์ พันธุ์คำเกิด. คู่มือสัมมนาและวิเคราะห์ข้อสอบกฎหมายลักษณะนิติกรรมและหนี้ เล่ม       ๑. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บริษัทกรุงสยาม พับลิชชิ่ง, ๒๕๖๐.