คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๗๓๓/๒๕๖๑ 
                จำเลยยื่นคำร้องว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล กล่าวคือ จำเลยประสบภาวะทางการเงินมีค่าใช้จ่ายและหนี้สินเป็นจำนวนมาก ไม่มีเงินมาชำระค่าธรรมเนียมศาลหรือค่าธรรมเนียมใช้แทนได้ หากจำเลยไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร ขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีโดยยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์รวมถึงค่าธรรมเนียมใช้แทนด้วย รายละเอียดในคำร้องแสดงให้เห็นว่าข้อยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งหมด ซึ่งหากศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วเห็นว่ามีเหตุอันควรยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตามที่จำเลยร้องขอแต่บางส่วนย่อมต้องระบุไว้อย่างชัดเจนว่าอนุญาตให้จำเลยได้รับการยกเว้นส่วนใดหรือเพียงใด ซึ่งทำให้จำเลยทราบได้ว่าค่าธรรมเนียมที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาวางศาลพร้อมฟ้องอุทธรณ์นั้น เฉพาะค่าขึ้นศาลหรือค่าธรรมเนียมที่จำเลยจะต้องใช้แทนโจทก์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๒๒๙ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามถ้อยคำใน ป.วิ.พ.มาตรา ๑๕๗ ว่า อนุญาตจำเลยให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์โดยไม่กล่าวเฉพาะเจาะจงอย่างหนึ่งอย่างใดเช่นนี้ ย่อมมีผลตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่า รวมถึงเงินที่จำเลยจะต้องวางเป็นค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ที่ว่าเป็นการอนุญาตเฉพาะค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์นั้นไม่ชอบ เพราะขัดต่อเจตนารมณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๑๕๗ อย่างชัดเจน
    
        เพิ่มเติม
               การยื่นอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์จะต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม ๒ ส่วน ได้แก่
               ๑.เงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ ต้องเสียตามตาราง ๑ ท้าย ป.วิ.พ.
               ๒.เงินค่าธรรมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษา ตามมาตรา ๒๒๙ แห่ง ป.วิ.พ.

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
               มาตรา ๑๕๗ เมื่อศาลอนุญาตให้บุคคลใดได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในศาลใด บุคคลนั้น ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น ค่าธรรมเนียมเช่นว่านี้ให้รวมถึงเงินวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกา ถ้าเป็นกรณีที่ศาลอนุญาตในระหว่างพิจารณา การยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลนั้นให้ใช้บังคับแต่เฉพาะค่าธรรมเนียมศาลและเงินวางศาลที่จะต้องเสียหรือวางหลังคำสั่งอนุญาตเท่านั้น ส่วนค่าธรรมเนียมศาลหรือเงินวางศาลที่เสียหรือวางไว้ก่อนคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอันไม่ต้องคืน

อ้างอิง
สมศักดิ์ เอี่ยมพลับใหญ่. หลักทฤษฎีพื้นฐาน-ปฏิบัติอย่างมืออาชีพ อุทธรณ์-ฎีกา คดีแพ่ง-อาญา.      กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บัณฑิตอักษร, ๒๕๕๘.