คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๒๐-๓๙๒๗/๒๕๖๑
               บริษัท ท. ผู้ซื้อทอดตลาดที่ดินพิพาทขอให้บังคับ ม. และบริวาร ออกจากที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ ยื่นคำร้องว่า ไม่ใช่บริวารและได้ครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์โดยการ ครอบครองปรปักษ์แล้วโดยมิได้ต่อสู้ว่าบริษัท ท. ซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ ที่ ๖ และที่ 6 ระหว่างคำสั่งศาลชั้นต้นยังมีผลบังคับ บริษัท ท. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ จะได้มีคำสั่งยกคำสั่งศาลชั้นต้นจากเหตุที่ ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการให้มีคู่ความแทนที่ผู้ร้องที่ ๑ ที่ ๔ และที่ ๑๗ ผู้มรณะ แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีแต่ก็ไม่มีประเด็นว่าบริษัท ท. ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดสุจริตหรือไม่ เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา ๖ บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ดังนั้น สิทธิของบริษัท ท. ผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ย่อมไม่เสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๐ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ ไม่อาจยกการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมขึ้นต่อสู้บริษัท ท. ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง รวมทั้งโจทก์ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ด้วย เว้นแต่ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ จะได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทใหม่ จนได้กรรมสิทธิ์

               ตามฎีกานี้ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ ว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๘ อ้างการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทต่อสู่โจทก์ผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้หรือไม่ ซึ่งตามฎีกานี้ โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากบริษัท ท. ซึ่งบริษัท ท. ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาด

เพิ่มเติม
               ต้องเป็นการขายทอดตลาดตามคำสั่งของศาลหรือ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย (ฎีกาที่ ๑๕๔๑๖/ ๒๕๕๗) ถ้าศาลให้ขายหรือประมูลกันในระหว่างคู่ความ ไม่ใช่ในบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๓๓๐ นี้
               ผู้รับโอนทรัพย์จากผู้ซื้อทรัพย์ตามมาตรานี้ย่อมมีสิทธิ หรือได้รับความคุ้มครองจากมาตรา ๑๓๓๐ ด้วย (ฎีกาที่ ๒๔๔/๒๕๑๓)
               เมื่อผู้ซื้อทรัพย์ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๓๓๐ นี้แล้ว ผู้อื่นจะอ้างเหตุว่าเป็นผู้ครอบครองปรปักษ์ทรัพย์นั้นขึ้นต่อสู้ก็ไม่ได้ด้วย (ฎีกาที่ ๖๔๓๔/๒๕๔๙)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน ไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว
               มาตรา ๑๓๓๐ สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริต ในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล หรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษา ทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้น ท่านว่ามิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา หรือผู้ล้มละลาย

อ้างอิง
บัญญัติ สุชีวะ. คำอธิบายกฎหมายลักษณะทรัพย์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๗. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เนติบัณฑิตยสภา, ๒๕๕๙.