บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่
ส. เจ้าของที่ดินพิพาทคนเดิม คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ขับไล่ ส. ใช้บังคับถึงจำเลยคดีนี้ในฐานะบริวารของ
ส. ที่ปลูกสร้างอาคารบนที่ดินพิพาทและไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นตาม
ป.วิ.พ.มาตรา ๑๔๒ (๑) และคำพิพากษาศาลชั้นต้นผูกพันทั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
ส. และจำเลย จนถึงวันที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ จะมีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงตาม
ป.วิ.พ.มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่งและวรรคสอง โจทก์ทั้งสามได้รับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นทอด ๆ
จากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยและบริษัทบริหารสินทรัพย์ ก. ตามลำดับ แม้ถือว่าโจทก์ทั้งสามจะเป็นผู้สืบสิทธิในที่ดินพิพาท
ส่วนจำเลยเป็นบริวารของ ส. ซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อน ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสามที่จะฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท
และเรียกค่าเสียหายเป็นอีกคดีหนึ่ง เพราะจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามด้วย
แม้โจทก์ทั้งสามจะเป็นผู้สืบสิทธิในที่ดินพิพาทจากโจทก์ในคดีก่อน
และจำเลยเป็นบริวารของจำเลยในคดีก่อน แต่ประเด็นข้อพิพาททั้งสองคดีแตกต่างกัน โดยคดีก่อนมีประเด็นว่ากระทำละเมิดต่อบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยหรือไม่
และค่าเสียหายเพียงใด คดีนี้มีประเด็นว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามหรือไม่
และค่าเสียหายเพียงใด แม้คำพิพากษาคดีก่อนที่ขับไล่ ส. จะมีผลบังคับถึงจำเลย ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดีด้วย
ก็เพราะจำเลยเป็นบริวารของ ส. และไม่ได้แสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นทั้งกรณีตามบทบัญญัติแห่ง
ป.วิ.พ.มาตรา ๒๙๖ จัตวา (๓) หากไม่ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวัน
นับแต่วันปิดประกาศ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น
หาได้มีผลเด็ดขาดเป็นการตัดสิทธิห้ามฟ้องร้องภายหลังไม่ เมื่อคำพิพากษาในคดีก่อนหาได้วินิจฉัยว่าจำเลยละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามด้วยไม่
เพราะโจทก์ทั้งสามไม่ได้เป็นคู่ความในคดีก่อน ประเด็นข้อพิพาททั้งสองคดีต่างกัน ฟ้องของโจทก์ทั้งสามคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน
ตามฎีกานี้ ประเด็นแรกมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า
โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และประเด็นที่สอง ฟ้องโจทก์ทั้งสามเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๕๕
เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง
หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิของศาล
บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลแพ่งที่มีเขตอำนาจได้
ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้
มาตรา ๑๔๕ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกา
และการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ
ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง
นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง
แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี
มาตรา ๑๔๘
คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก
ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
(๑)
เมื่อเป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
(๒)
เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งได้กำหนดวิธีการชั่วคราวให้อยู่ภายในบังคับที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเสียได้ตามพฤติการณ์
(๓)
เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่
ในศาลเดียวกันหรือในศาลอื่น ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ
0 Comments
แสดงความคิดเห็น