ตลาดไทมีพื้นที่ประมาณ ๕๐๐ ไร่ มีการแบ่งตลาดย่อย
ๆ ตามประเภทสินค้าหลายตลาด ลักษณะเป็นการค้าส่งสินค้าเกษตรและมีลานซื้อขายสินค้า อาคารพาณิชย์และที่จอดรถหลายจุด ทั้งลักษณะกิจการของตลาดไทเป็นศูนย์กลางซื้อขายสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ เปิดบริการ ๒๔ ชั่วโมง ทำให้มีรถยนต์เข้าออกเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ปรากฏว่าการเข้าออกตลาดไทซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่นั้น รถยนต์ของผู้ที่มาใช้บริการสามารถเข้าออกตลาดย่อยต่าง
ๆ และลานจอดรถได้ตามความสะดวกไม่ต้องขออนุญาตหรือแลกบัตรในการผ่านเข้าออก เว้นแต่รถยนต์ที่นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายต้องเสียค่าธรรมเนียมที่ป้อมยาม ส่วนรถยนต์อื่น ๆ ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าจอดรถและไม่ได้มีบริการรับฝากรถ
ผู้ที่มาใช้บริการสามารถเลือกที่จอดรถในบริเวณที่จำเลยที่ ๑ จัดไว้เป็นพื้นที่จอดรถได้ตามอิสระ ไม่ได้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยดูแลเป็นการเฉพาะในการนำรถยนต์เข้าหรือออกจากลานจอดรถ ผู้ที่มาใช้บริการจะขับรถยนต์ออกไปก็สามารถกระทำได้ทันทีไม่มีการตรวจสอบของพนักงานรักษาความปลอดภัย ทั้งรถยนต์ที่เข้าออกส่วนใหญ่บรรทุกหรือขนส่งสินค้าเกษตรนำมาเสนอขายเพื่อให้ผู้ซื้อรับซื้อสินค้าไปในลักษณะการขายส่งเป็นหลัก การขับรถยนต์เข้ามาในตลาดไทเพื่อนำสินค้ามาขายหรือเพื่อมาซื้อสินค้ามุ่งในการซื้อขายกระจายสินค้าโดยมีรถยนต์เป็นพาหนะขนส่งซึ่งแตกต่างจากการที่บุคคลไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าโดยนำรถยนต์ไปจอดในลานจอดรถแล้วเข้าไปซื้อสินค้าหรือบริการในฐานะลูกค้าของกิจการนั้น ส่วนสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยกำหนดให้จำเลยที่
๒ ดูแลรักษาทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ และบริวาร ผู้ค้าขาย ผู้ซื้อ ผู้มาติดต่อ หรือใช้บริการภายในตลาดไท
เป็นเพียงการกำหนดขอบเขตการดำเนินงานทั่วไปของจำนวนที่ ๒ โดยนายสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยระบุเพียงว่า ตระเวนและตรวจตราดูแลจัดระบบและควบคุมดูแลจัดระเบียบการจราจรภายในบริเวณโครงการตลาดไท โดยไม่มีหน้าที่โดยเฉพาะว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยต้องทำการดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าทั่วไปที่มาใช้บริการหรือต้องปฏิบัติหน้าที่ประจำลานจอดรถ พนักงานรักษาความปลอดภัยเพียงแต่มีหน้าที่ตรวจตราดูแลเพื่อจัดระเบียบการจราจรเท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ตามสัญญาหรือความสัมพันธ์ที่เคยปฏิบัติในการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่รถยนต์ของผู้ใช้บริการที่นำมาจอดในลานจอดรถของตลาดไท
จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดในการที่รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้สูญหายในลานจอดรถ
ตามฎีกานี้ ท่านพิสิฐ ธรรมกุล
ได้เขียนหมายเหตุไว้ท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ไว้ว่า “หลักในการพิจารณาที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดดังนี้
๑.ถ้าการจัดที่จอดรถของผู้ประกอบการมีลักษณะเป็นการเชื้อเชิญ
จูงใจให้ประชาชนมาซื้อสินค้าและบริการทำให้ธุรกิจของตนได้กำไรมากขึ้น กรณีนี้หากผู้บริโภคนำรถมาเพื่อใช้บริการ
ผู้ประกอบการต้องรับผิด โดยมิต้องพิจารณาว่า ผู้ประกอบการเก็บค่าจอดรถจากบัตรจอดรถหรือไม่
๒.ถ้าการสูญหายของรถ แม้จอดในที่ที่ผู้ประกอบการจัดหาไว้ให้
แต่การที่รถสูญหายต้องเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการ รวมถึงบริษัทรักษาความปลอดภัยซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการด้วย
๓.การจัดที่จอดรถของผู้ประกอบการ ต้องเพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจในทางการค้าของตนเท่านั้น มิใช่เพียงเพื่อประโยชน์โดยรวมของการตลาดหรือผู้อื่น และ
๔.โจทก์ จำเลย หรือคู่ความต้องมีนิติสัมพันธ์ หรือมีหน้าที่ต่อกันตามกฎหมายหรือตามสัญญา
แต่เดิม
กรณีรถหายในสถานที่ที่ผู้ประกอบการจัดไว้เป็นสัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. บรรพ ๓
ลักษณะ ๑๐
ต่อมาเมื่อมีการตรากฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีพิจารณา
ตลอดจนแนวคิดเรื่องความไม่เสมอภาค ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค
โดยมองว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักมีอำนาจต่อรองที่สูงกว่า
และการที่ผู้บริโภคนำรถเข้าไปจอดเพื่อซื้อสินค้าและบริการ
ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ส่งผลให้มีคำพิพากษาศาลฎีกาหลายฉบับ
ไม่นำเรื่องสัญญาฝากทรัพย์มาปรับใช้แก่คดี โดยปรับกฎหมายในเรื่องละเมิดซึ่งเป็นนิติเหตุ
และตามหลักกฎหมายเฉพาะมาใช้บังคับแก่คดีแทน(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๙๙/๒๕๖๐,
๘๙๐๘/๒๕๖๐, ๗๐๗๘/๒๕๖๐)
อย่างไรก็ดี มีคำพิพากษาศาลฎีกาอีกจำนวนมากที่ศาลฎีกาจะให้ผู้ประกอบการหรือผู้ประกอบธุรกิจรับผิดกรณีรถสูญหายในที่ที่จัดไว้โดยจะพิจารณานิติสัมพันธ์ของคู่ความในหลากหลายมิติไม่ว่าพิจารณาในฐานะผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภค(คำพิพากษาศาลฎีกาที่
๖๐๙๙/๒๕๖๐, ๕๘๐๐/๒๕๕๓) พิจารณาในฐานะผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายเฉพาะ
เช่น พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๘๐๐/๒๕๕๓, ๘๙๐๘/๒๕๖๐, ๗๐๗๘/๒๕๖๐) พิจารณาในฐานะความสัมพันธ์ตามพฤติการณ์พิเศษระหว่างคู่สัญญา(คำพิพากษาศาลฎีกาที่
๕๑๓/๒๕๕๔) และพิจารณาในฐานะมูลหนี้นิติกรรมสัญญาเฉพาะคดี(คำพิพากษาศาลฎีกาที่
๔๐๙๕/๒๕๓๙) รวมทั้งพิจารณาความสัมพันธ์ในมูลนิติเหตุหรือในมูลละเมิด
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๓๖/๒๕๔๙) เป็นต้น”
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๔๒๐ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี
แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี
ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา ๘๘๐ ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้
ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น
ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้
ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยนั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัย
หรือผู้รับประโยชน์ ในการที่เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพื่อเศษแห่งจำนวนวินาศภัยนั้น
0 Comments
แสดงความคิดเห็น