โจทก์ที่ ๑ ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานในกฎหมาย ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๖ ว่าโจทก์ที่ ๑ ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยสุจริต จำเลยที่ ๒ ต้องให้การโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ที่ ๑ ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตอย่างไร เพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทในคำให้การจึงจะนำสืบหรือยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ฎีกาเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานในกฎหมายได้ แต่จำเลยที่ ๒ มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องโจทก์ที่ ๑ ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตไว้ในคำให้การย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๒๔๙ (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง
               ในการยื่นคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยนั้น จำเลยต้องแสดงให้ชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่คู่ความต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบ จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่มีรายได้จากการทำงานพิเศษ จึงไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ ๑ แต่อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ที่ว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่ได้เป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล บริษัทที่รับประกันภัยวินาศภัยและประกันชีวิตของโจทก์ที่ ๑ เป็นผู้จ่ายทั้งหมดโจทก์ที่ ๑ ไม่ได้รับความเสียหายจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่มาเป็นเหตุแห่งการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นคนละเหตุกับที่จำเลยที่ ๒ ให้การไว้ แม้จำเลยที่ ๒ จะนำข้อเท็จจริงที่ได้ความจากชั้นพิจารณามาอุทธรณ์ก็ตาม แต่ไม่ได้ เป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในประเด็นข้อพิพาทตามคำให้การ ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
               มาตรา ๒๒๕ ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัด แจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบใน ศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย
               ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วย ความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความ ฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้น เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้

เพิ่มเติม
               ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่อาจอุทธรณ์ได้
               ๑. ต้องกล่าวโดยชัดแจ้งในอุทธรณ์
               ๒. ต้องเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
               ๓. ต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
               ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่อุทธรณ์ต้องยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น จะต้องเป็นข้อที่ได้กล่าวอ้างในคำฟ้องหรือต่อสู้ในคำให้การ
               ข้อที่ว่ากันมาแล้วหรือมิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การ และประเด็นข้อพิพาทในคดีเป็นสำคัญ ไม่ใช่พิจารณาจากข้อเท็จจริงและการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณา แม้จำเลยจะได้ถามค้านพยานโจทก์ไว้โดยชัดแจ้ง แต่เมื่อไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ ก็ไม่ใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น(ฎีกาที่ ๒๗๔๒/๒๕๕๖)

อ้างอิง
สมศักดิ์ เอี่ยมพลับใหญ่. หลักทฤษฎีพื้นฐาน - ปฏิบัติอย่างมืออาชีพ อุทธรณ์ - ฎีกา คดีแพ่ง – คดีอาญา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บัณฑิตอักษร, ๒๕๕๘.