โจทก์ร่วมกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนตามมติที่ประชุมคณะกรรมการของสมาคมโจทก์ร่วมโดยมีเจตนาให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกเงิน
๓,๖๘๖,๑๖๐ บาท ของโจทก์ร่วม
ซึ่งรวมเงิน ๕๐๒,๑๙๐ บาท
ที่เป็นเงินสงเคราะห์ศพสมาชิกที่สมาชิกชำระให้แก่โจทก์ร่วมประจำเดือนมกราคม ๒๕๕๖
ด้วย แม้รายงานการประชุมที่ประธานคณะกรรมการของโจทก์ร่วมแจ้งต่อที่ประชุมว่าตรวจสอบพบว่าจำเลยทั้งสองทุจริตยักยอกเงินนับจากเดือน
กุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ๒๕๕๖ เป็นเงิน ๓,๖๔๖,๑๖๐ บาท แต่ก็เป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุที่ประธานแจ้งข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนต่อที่ประชุมเท่านั้น
และเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แม้พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดแก่จำเลยทั้งสองเป็นเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม
๒๕๕๖ โดยไม่ได้แจ้งถึงเดือนมกราคม ๒๕๕๖ ด้วย ถือเป็นความคลาดเคลื่อนของพนักงานสอบสวนในการตรวจสอบและแจ้งข้อเท็จจริงแก่ต้องหา
แต่หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของโจทก์ร่วมที่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกไม่
การดำเนินการให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองของโจทก์ร่วมในข้อหายักยอกเงินสงเคราะห์ศพสมาชิก
๕๐๒,๑๙๐ บาท ที่จำเลยทั้งสองรับจากสมาชิกประจำเดือนมกราคม
๒๕๕๖ จึงชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา ๒ (๗) แล้ว
ตามฎีกานี้ มีปัญหาว่าข้อหายักยอกเงินสงเคราะห์ศพสมาชิก ๕๐๒,๑๙๐ บาท ที่จำเลยทั้งสองรับจากสมาชิกประจำเดือนมกราคม
๒๕๕๖ โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์โดยชอบแล้วหรือไม่
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๒ ในประมวลกฎหมายนี้
(๗) “คำร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้
เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายนี้
ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
เพิ่มเติม
กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร
การที่โจทก์ร่วมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย
และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว
แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม
พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง(ฎีกาที่ ๒๒๒๖๗/๒๕๕๕)
0 Comments
แสดงความคิดเห็น