ป.พ.พ.มาตรา ๗๐ บัญญัติว่า นิติบุคคลต้องมีผู้แทนคนหนึ่งหรือหลายคน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมาย ข้อบังคับ หรือ ตราสารจัดตั้งจะได้กำหนดไว้ ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล และมาตรา ๗๑ บัญญัติว่า ในกรณีที่นิติบุคคลมีผู้แทนหลายคน การดำเนินกิจการของนิติบุคคลให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของผู้แทนของนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะได้มีข้อกำหนดไว้เป็นประการอื่นในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง ดังนี้ เมื่อตามหนังสือรับรองของโจทก์ระบุรายชื่อกรรมการของโจทก์ อำนาจกระทำการแทนและจำนวนกับชื่อกรรมการที่จะลงชื่อเป็นสำคัญผูกพันโจทก์ได้ ซึ่งล้วนเป็นรายการที่มีการจดทะเบียนไว้ในคำขอจดทะเบียนบริษัทตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๑๑๑ (๖) จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัดมีข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้แทนนิติบุคคลไว้เป็นการเฉพาะในตราสารจัดตั้งแล้วว่าบุคคลซึ่งจะมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์จะต้องเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในการลงชื่อเป็นสำคัญผูกพันโจทก์ได้ ทั้งจะต้องลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองดังกล่าวเท่านั้น หาใช่เป็นกรณีที่จะต้องเป็นไปตามเสียงข้างมากของคณะกรรมการของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลไม่
              
               ตามฎีกานี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ปัญหาจึงมีอยู่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า แม้ความประสงค์ของบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลจะแสดงออกโดยแทนนิติบุคคลก็ตาม แต่กรณีที่นิติบุคคลมีผู้แทนหลายคน การดำเนินกิจการของ นิติบุคคลนั้นจะต้องเป็นไปตามเสียงข้างมากของผู้แทนนิติบุคคลตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา ๗๑ เมื่อการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์เป็นไปตามเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการซึ่งดำเนินการตามข้อบังคับของโจทก์ ข้อ ๑๙ และข้อ ๒๑ และเป็นการมอบอำนาจให้ยื่นฟ้องต่อศาลตาม ป.พ.พ.มาตรา ๘๐๑ วรรคสอง (๕) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
               “ส่วนที่ข้อบังคับของโจทก์ ข้อ ๑๙ วรรคหนึ่ง กำหนดให้คณะกรรมการของโจทก์เป็นผู้ดำเนินกิจการของโจทก์โดยอยู่ภายใต้ การควบคุมของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นและเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และข้อ ๒๑ วรรคสอง (๓) กำหนดให้ประธานกรรมการของโจทก์เป็นผู้รับผิดชอบหน้าที่อื่นใดที่คณะกรรมการของโจทก์มอบหมายโดยชัดแจ้งนั้น ข้อบังคับของ โจทก์ดังกล่าวเป็นเพียงข้อกำหนดให้คณะกรรมการของโจทก์มีความรับผิดชอบต่อการดำเนินกิจการของโจทก์เพื่อประโยชน์ของบรรดาผู้ถือหุ้นของโจทก์เท่านั้น โดยในการนี้คณะกรรมการของโจทก์จะมอบหมายให้ประธานกรรมการของโจทก์เป็นผู้รับผิดชอบในหน้าที่จัดการงานอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้อันเป็นเรื่องภายในของโจทก์ซึ่งเป็นความเกี่ยวพันในระหว่างกรรมการบริษัท และผู้ถือหุ้นเท่านั้น หาได้มีความหมายว่าคณะกรรมการของโจทก์มีอำนาจที่จะมอบหมายให้ประธานกรรมการของโจทก์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ซึ่งเป็นความเกี่ยวพันในระหว่าง กรรมการบริษัท และบุคคลภายนอกแต่อย่างใด หากโจทก์ไม่ได้รับความร่วมมือจากกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในการฟ้องคดีนี้ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการเปลี่ยนตัวผู้แทนนิติบุคคล จำกัดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจของผู้แทนนิติบุคคล หรือจะขอให้ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้แต่งตั้งผู้แทนเฉพาะการของนิติบุคคลตาม ป.พ.พ.มาตรา ๗๒ ถึงมาตรา ๗๕ ได้หรือไม่ ข้อบังคับของโจทก์ดังกล่าวมิใช่ข้อกำหนด ซึ่งให้อำนาจแก่คณะกรรมการของโจทก์ในการแก้ไขปัญหา กรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือจากกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ดังที่ โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด การที่คณะกรรมการของโจทก์โดยเสียงข้างมากมอบหมายให้ ส. ประธานกรรมการของโจทก์ เป็นผู้ฟ้องคดีนี้ จึงไม่มีผลเท่ากับว่า โจทก์เป็นผู้ฟ้องคดีเอง กรณีจำเป็นที่จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้ ส. เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ เมื่อไม่ปรากฏว่า ฮ. หรือ ฟ. ลงลายมือชื่อร่วมกับ ส. หรือ ท. หรือ ต. รวมเป็นสองคนและประทับตราสำคัญของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจ กรณีย่อมไม่อาจถือได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ยื่นฟ้องต่อศาลตาม ป.พ.พ.มาตรา ๘๐๑ วรรคสอง (๕) ส. จึงมิใช่ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ในการฟ้องคดีและไม่มีอำนาจแต่งตั้งทนายความโจทก์ในการฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง”

เพิ่มเติม
               การดำเนินกิจการของนิติบุคคลกรณีมีผู้แทนนิติบุคคลหลายคน และไม่ได้มีข้อกำหนดไว้เป็นประการอื่นในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งหรือมิได้บัญญัติไว้เป็นประการอื่นในการจัดตั้งนิติบุคคล การดำเนินกิจการของนิติบุคคลนั้นจะต้องเป็นไปตามเสียงข้างมากของผู้แทนนิติบุคคลทั้งหลายด้วยกันตาม มาตรา ๗๑

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๑๑๑ เมื่อจำนวนเงินซึ่งว่าไว้ในมาตรา ๑๑๑๐ ได้ใช้เสร็จแล้ว กรรมการต้องไปขอจดทะเบียนบริษัทนั้น
               คำขอและข้อความที่ลงในทะเบียนนั้น ให้ระบุรายการตามที่ได้ตกลงกันในที่ประชุมตั้งบริษัท ดังต่อไปนี้ คือ
               (๖) ถ้าให้กรรมการต่างมีอำนาจจัดการของบริษัทได้โดยลำพังตัวให้แสดงอำนาจของกรรมการนั้น ๆ ว่าคนใดมีเพียงใด และบอกจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งจะลงชื่อเป็นสำคัญผูกพันบริษัทได้นั้น

อ้างอิง
กันย์กัญญา ใจการวงค์สกุล. กฎหมายแพ่ง หลักทั่วไป. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๖๐.